วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

พายุหมุนเขตร้อน กับวิธีการป้องกันตัว

พายุหมุนเขตร้อน กับวิธีการป้องกันตัว



เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม

          ช่วงนี้หลายคนคงรู้สึกว่าได้ยินคำว่า "พายุ" อยู่บ่อยๆ ทั้งจากโทรทัศน์, วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ แถมประจวบกับที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่าโดน "นาร์กีส" หรือ "พายุไซโคลน" ถล่มซะจนสร้างความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ จนทำให้หลายๆ คนอยากรู้จักกับพายุมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้รู้จักและหาป้องกันตัวเองได้ ดังนั้น เราจะพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับพายุให้มากขึ้น โดยเฉพาะ "พายุหมุนเขตร้อน" ที่มักเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยหรือเพื่อนบ้านรอบๆ


พายุคืออะไร.. ?

          
พายุ คือ สภาพบรรยากาศที่ถูกรบกวนแบบใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อพื้นผิวโลก และบ่งบอกถึงสภาพอากาศที่รุนแรง เวลากล่าวถึงความรุนแรงของพายุ จะมีเนื้อหาสำคัญอยู่บางประการคือ ความเร็วที่ศูนย์กลาง ซึ่งอาจสูงถึง 400 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วของการเคลื่อนตัว ทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุ และขนาดความกว้างหรือเส้นผ่าศูนย์กลางของตัวพายุ ซึ่งบอกถึงอาณาบริเวณที่จะได้รับความเสียหายว่าครอบคลุมเท่าใด ความรุนแรงของพายุจะมีหน่วยวัดความรุนแรงคล้ายหน่วยริกเตอร์ของการวัดความรุนแรงแผ่นดินไหว มักจะมีความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

พายุแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 3 ประเภท คือ

         พายุฝนฟ้าคะนอง มีลักษณะเป็นลมพัดย้อนไปมา หรือพัดเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน อาจเกิดจากพายุที่อ่อนตัวและลดความรุนแรงของลมลง หรือเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องความกดอากาศต่ำ อาจไม่มีทิศทางที่แน่นอน หากสภาพการณ์แวดล้อมต่างๆ ของการเกิดฝนเหมาะสม ก็จะเกิดฝนตก มีลมพัด

          พายุหมุนเขตร้อน (Tropical cyclone) ต่างๆ เช่น เฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น และไซโคลน ซึ่งล้วนเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน และจะเกิดขึ้นหรือเริ่มต้นก่อตัวในทะเล หากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตร จะมีทิศทางการหมุนทวนเข็มนาฬิกา และหากเกิดใต้เส้นศูนย์สูตรจะหมุนตามเข็มนาฬิกา โดยมีชื่อต่างกันตามสถานที่เกิด กล่าวคือ

          1. พายุเฮอร์ริเคน (hurricane) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดบริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น บริเวณฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน เป็นต้น รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก

          2. พายุไต้ฝุ่น (typhoon) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย ประเทศญี่ปุ่น แต่ถ้าเกิดในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เรียกว่า บาเกียว (Baguio)

          3. พายุไซโคลน (cyclone) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดในมหาสมุทรอินเดีย เหนือ เช่น บริเวณอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ เป็นต้น แต่ถ้าพายุนี้เกิดบริเวณทะเลติมอร์และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย จะเรียกว่า พายุวิลลี-วิลลี (willy-willy)

          4. พายุโซนร้อน (tropical storm) เกิดขึ้นเมื่อพายุเขตร้อนขนาดใหญ่อ่อนกำลังลง ขณะเคลื่อนตัวในทะเล และความเร็วที่จุดศูนย์กลางลดลงเมื่อเคลื่อนเข้าหาฝั่ง 

          5. พายุดีเปรสชัน (depression) เกิดขึ้นเมื่อความเร็วลดลงจากพายุโซนร้อน ซึ่งก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองธรรมดาหรือฝนตกหนัก

          6. พายุทอร์นาโด (tornado) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดในทวีปอเมริกา มีขนาดเนื้อที่เล็กหรือเส้นผ่าศูนย์กลางน้อย แต่หมุนด้วยความเร็วสูง หรือความเร็วที่จุดศูนย์กลางสูงมากกว่าพายุหมุนอื่น ๆ ก่อความเสียหายได้รุนแรงในบริเวณที่พัดผ่าน เกิดได้ทั้งบนบก และในทะเล หากเกิดในทะเล จะเรียกว่า นาคเล่นน้ำ (water spout) บางครั้งอาจเกิดจากกลุ่มเมฆบนท้องฟ้า แต่หมุนตัวยื่นลงมาจากท้องฟ้าไม่ถึงพื้นดิน มีรูปร่างเหมือนงวงช้าง จึงเรียกกันว่า ลมงวง


ถิ่นกำเนิดหรือบริเวณที่เกิดพายุหมุนเขตร้อน

          
พายุหมุนเขตร้อนเป็นคำทั่วๆ ไปที่ใช้สำหรับเรียกพายุหมุนหรือพายุไซโคลน (Cyclone) ที่มีถิ่นกำเนิดเหนือมหาสมุทรในเขตร้อนแถบละติจูดต่ำ แต่อยู่นอกเขตบริเวณเส้นศูนย์สูตร เพราะยังไม่เคยปรากฏว่ามีพายุหมุนเขตร้อนเกิดที่เส้นศูนย์สูตร พายุนี้เกิดขึ้นในมหาสมุทรหรือทะเลที่มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 26 องศาเซลเซียส หรือ 27 องศาเซลเซียส ขึ้นไป และมีปริมาณไอน้ำสูง เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักเคลื่อนตัวตามกระแสลมส่วนใหญ่จากทิศตะวันออกมาทางทิศตะวันตก และค่อยโค้งขึ้นไปทางละติจูดสูง แล้วเวียนโค้งกลับไปทางทิศตะวันออกอีก พายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นได้หลายแห่งในโลก และมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด

          พายุหมุนเขตร้อนเมื่ออยู่ในสภาวะที่เจริญเติบโตเต็มที่ จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไปและเกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดแรงมาก ระบบการหมุนเวียนของลมเป็นไป โดยพัดเวียนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุในซีกโลกเหนือ ส่วนในซีกโลกใต้พัดเวียนตามเข็มนาฬิกา ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุด

          ความเร็วลมสูงสุดที่บริเวณใกล้ศูนย์กลางนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความรุนแรงของพายุ ซึ่งในย่านมหาสมุทรแปซิ-ฟิกเหนือด้านตะวันตก และทะเลจีนใต้มีการแบ่งตามข้อตกลงระหว่างประเทศดังนี้ 

          - พายุดีเปรสชันเขตร้อน (tropical depression) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กิโลเมตร/ชั่วโมง)

          - พายุโซนร้อน (tropical storm) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต (63 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กิโลเมตร/ชั่วโมง) 

          - ไต้ฝุ่น (typhoon) ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต (118 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ขึ้นไป

          สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบจาก "พายุหมุนเขตร้อน" ที่ก่อตัวในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก และพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเราเรียกว่า "ไซโคลน" แม้พายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในบริเวณมหาสมุทรอินเดียจะไม่เข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง แต่ก็สามารถก่อความเสียหายต่อประเทศไทยได้เช่นกัน เมื่อทิศการเคลื่อนที่เข้าสู่บริเวณใกล้ประเทศไทยทางด้านตะวันตก ในกรณีของพายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้นั้น จะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทยในบริเวณต่างๆ ของประเทศแตกต่างกันตามฤดูกาล

          พายุหมุนเขตร้อน หรือ พายุไซโคลน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่สามารถทำความเสียหายได้รุนแรง จะต้องมีความเร็วลมมากกว่า 64 นอต (30 เมตร/วินาที, 74 ไมล์/ชั่วโมง หรือ 118 กิโลเมตร/ ชั่วโมง) ขึ้นไป และมักจะมี "ตาพายุ" ศูนย์กลางหรือที่เรียกว่า "ตา" เป็นบริเวณที่มีลมสงบ อากาศโปร่งใส โดยอาจมีเมฆและฝนบ้างเล็กน้อย ล้อมรอบด้วยพื้นที่บริเวณกว้างรัศมีหลายร้อยกิโลเมตร ตาพายุนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายดาวเทียมเป็นวงกลมเล็กที่ไม่มีเมฆ รอบตาจะมีกำแพงล้อมที่มีขนาดกว้างประมาณ 16-80 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีพายุฝนและลมหมุนที่รุนแรงมากหมุนวนรอบๆ ตา 

          ดังนั้น ในบริเวณที่พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่ผ่าน ครั้งแรกจะปรากฏลักษณะอากาศโปร่งใส เมื่อด้านหน้าของพายุหมุนเขตร้อนมาถึงจะปรากฏลมแรง ฝนตกหนัก และมีพายุฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจปรากฏพายุทอร์นาโด ในขณะตาพายุมาถึง อากาศจะโปร่งใสอีกครั้ง และเมื่อด้านหลังของพายุหมุนมาถึงอากาศจะเลวร้ายลงอีกครั้งและรุนแรงกว่าครั้งแรกซึ่งการเคลื่อนตัวของเมฆรอบศูนย์กลางพายุก่อตัวเป็นรูปขดวงก้นหอยที่เด่นชัด แถบหรือวงแขที่อาจยื่นโค้งเป็นระยะที่ยาวออกไปได้มากในขณะที่เมฆถูกดึงเข้าสู่วงหมุน ทิศทางวงหมุนของพายุขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดว่าอยู่ ณ ส่วนใดของซีกโลกดังกล่าวแล้ว 

          หากอยู่ซีกโลกเหนือพายุจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา ด้านซีกโลกใต้จะหมุนตามเข็มนาฬิกา ความเร็วสูงสุดของพายุหมุนเขตร้อนที่เคยวัดได้มีความเร็วมากกว่า 85 เมตร/วินาที (165 นอต, 190 ไมล์/ชั่วโมง, 305 กิโลเมตร/ชั่วโมง) พายุที่รุนแรงมากและอยู่ในระยะก่อตัวช่วงสูงสุดบางครั้งอาจมีรูปร่างของโค้งด้านในแลดูเหมือนอัฒจรรย์สนามแข่งขันฟุตปอลได้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบางครั้งในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า "ปรากฏการณ์อัฒจรรย์" (stadium effect)

          วงหมุนที่เกิดผนังตาพายุจะเกิดตามปกติเมื่อพายุมีความรุนแรงมาก เมื่อพายุแรงถึงขีดสุดก็มักจะเกิดการหดตัว ของรัศมีกำแพงตาพายุเล็กลงถึงประมาณ 8-24 กิโลเมตร (5-15 ไมล์) ซึ่งบางครั้งอาจไม่เกิด ถึงจุดนี้เมฆฝนอาจก่อตัวเป็นแถบอยู่ด้านนอกแล้วค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้าวงในแย่งเอาความชื้นและแรงผลักดันหรือโมเมนตัมจากผนังตาพายุ ทำให้ความรุนแรงลดลงบ้าง (ความเร็วสูงสุดที่ผนังลดลงเล็กน้อยและความกดอากาศสูงขึ้น) ในที่สุดผนังตาพายุด้านนอกก็จะเข้ามาแทนผนังในจนหมด ทำให้พายุกลับมามีความเร็วเท่าเดิม 

          แต่ในบางกรณีอาจกลับเร็วขึ้นได้ แม้พายุหมุนจะอ่อนตัวลงที่ปลายผนังตาที่ถูกแทนที่ แต่ที่จริงแล้วการเพิ่งผ่านปรากฏการณ์ลักษณะนี้ในรอบแรกและชะลอการเกิดในรอบต่อไป เป็นการเปิดโอกาสให้ความรุนแรงสะสมตัวเพิ่มขึ้นอีกได้ถ้ามีสภาวะที่เหมาะสม ซึ่งระดับความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อนที่มีความเร็วลมเกิน 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่

          - ระดับที่ 1 มีความเร็วลม 119-153 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายล้างเล็กน้อย ไม่ส่งผลต่อสิ่งปลูกสร้าง มีน้ำท่วมขังตามชายฝั่ง  

          - ระดับที่ 2 มีความเร็วลม 154-177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายล้างเล็กน้อย ทำให้หลังคา ประตู หน้าต่างบ้านเรือนเสียหายบ้าง ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง  

          - ระดับที่ 3 มีความเร็วลม 178-209 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายล้างปานกลาง ทำลายโครงสร้างที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก น้ำท่วมขังถึงพื้นบ้านชั้นล่าง 

          - ระดับที่ 4 มีความเร็วลม 210-249 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายล้างสูง หลังคาบ้านเรือนบ้านเรือนบางแห่งถูกทำลาย น้ำท่วมเข้ามาถึงพื้นบ้าน  

          - ระดับที่ 5 มีความเร็วลมมากกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะทำลายล้างสูงมาก หลังคาบ้านเรือน ตึกและอาคารต่างๆ ถูกทำลาย พังทลาย น้ำท่วมขังปริมาณมาก ถึงขั้นทำลายทรัพย์สินในบ้าน อาจต้องประกาศอพยพประชาชน 

          ขณะเดียวกันพายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก และมีความแรงของลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุมากกว่า 33 นอต จะเริ่มมีการกำหนดชื่อเรียก โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้จัดรายชื่อเพื่อเรียกพายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกไว้เป็นสากล เพื่อทุกประเทศในบริเวณนี้ใช้เพื่อเรียกพายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวขึ้น โดยเรียงตามลำดับให้เหมือนกัน

          ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา ได้เกิดระบบการตั้งชื่อพายุเป็นภาษาพื้นเมืองของแต่ละประเทศสมาชิกในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนบนและแถบทะเลจีนใต้ 14 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย ไมโครนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และไทย โดยนำชื่อมาเรียงเป็น 5 สดมภ์ เริ่มจากกัมพูชาจนถึงเวียดนามในสดมภ์ที่ 1 เมื่อหมดแล้วให้เริ่มขึ้นสดมภ์ที่ 2 ถึง 5 แล้วจึงเวียนมาเริ่มที่สดมภ์ 1 อีกครั้ง จนกว่าจะมีการกำหนดชื่อพายุครั้งใหม่อีก

อันตรายของพายุ

1. ความรุนแรงและอันตรายอันเกิดจากพายุไต้ฝุ่น


          เมื่อพายุที่มีกำลังขนาดไต้ฝุ่น พัดผ่านที่ใดย่อมทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงทั่วไป เช่น บนบกต้นไม้จะล้ม ถอนราก ถอนโคน จะทำให้เกิดอันตรายจากต้นไม้ล้มทับบ้านเรือน บ้านเรือนพังทับผู้คนในบ้านและใกล้เคียงบาดเจ็บหรือตาย เรือกสวนไร่นาเสียหายหนักมาก เสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าขาด ไฟฟ้าช็อต เกิดเพลิงไหม้และผู้คนอาจเสียชีวิตจากไฟฟ้าดูดได้ ผู้คนที่มีอาคารพักอาศัยอยู่ริมทะเลอาจถูกน้ำพัดพาลงทะเลจมน้ำตายได้ ดังเช่น ปรากฏการณ์ที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช

          ในทะเลลมแรงจัดมาก คลื่นใหญ่ เรือขนาดใหญ่ๆ ขนาดหมื่นตันอาจจะถูกพัดพาไปเกยฝั่งล่มจมได้ บรรดาเรือเล็กเป็นอันตรายล่มจมสิ้น ไม่สามารถจะต้านความรุนแรงของพายุได้ คลื่นใหญ่ซัดขึ้นริมฝั่งจนทำให้ระดับน้ำขึ้นสูงมากจนท่วมอาคารบ้านช่องริมทะเลได้ บรรดาโป๊ะจับปลาในทะเลถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงโดยคลื่นและลม

2. ความรุนแรงและอันตรายจากพายุโซนร้อน
          พายุโซนร้อนมีความรุนแรงน้อยกว่าพายุไต้ฝุ่น ฉะนั้น อันตรายอันจะเกิดจากการที่พายุนี้พัดมาปะทะลดลงในระดับรองลงมาจากพายุไต้ฝุ่น แต่ถึงกระนั้นก็ตามความรุนแรงที่จะทำให้ความเสียหายก็ยังมีมากเหมือนกัน ในทะเลลมจะแรงมากจนสามารถจะจมเรือขนาดใหญ่ๆ ได้ ต้นไม้ถอนรากถอนโคนดังพายุโซนร้อนที่ปะทะฝั่งแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช 

          ถ้าการเตรียมการรับสถานการณ์ไม่เพียงพอ ไม่มีการประกาศโฆษณาให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงภัยอันตรายอย่างทั่วถึง ไม่มีวิธีการดำเนินการที่เข้มแข็งในการอพยพ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ ในระหว่างเกิดพายุ การสูญเสียก็ย่อมมีการเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สมบัติของประชาชน

3. ความรุนแรงและอันตรายจากพายุดีเปรสชั่น
          พายุดีเปรสชั่นเป็นพายุที่มีกำลังอ่อน ไม่มีอันตรายรุนแรงแต่ทำให้มีฝนตกปานกลางทั่วไป ตลอดทางที่พายุดีเปรสชั่นผ่านไป และมีฝนตกหนักเป็นแห่งๆ พร้อมด้วยลมกรรโชกแรงเป็นครั้งคราว ซึ่งบางคราวจะรุนแรงจนทำให้เกิดความเสียหายได้บ้าง ไม่ปลอดภัยเสียทีเดียว ในทะเลค่อนข้างแรงและคลื่นจัด บรรดาเรือประมงเล็กขนาดต่ำกว่า 50 ตัน ควรงดเว้นออกทะเลเพราะอาจจะล่มลงได้ 

          และพายุดีเปรสชั่นนี้เมื่ออยู่ในทะเลได้รับไอน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา และไม่มีสิ่งกีดขวางทางลมอาจจะทวีกำลังขึ้นได้โดยฉับพลัน ฉะนั้น เมื่อได้รับทราบข่าวว่ามีพายุดีเปรสชั่นขึ้นในทะเลก็อย่าได้ไว้วางใจว่าจะมีกำลังอ่อนเสมอไปอาจจะมีอันตรายได้เหมือนกัน สำหรับพายุพัดจัดจะลดน้อยลงเป็นลำดับ มีแต่ฝนตกทั่วไปเป็นระยะนานๆ และตกได้มากถึง 100 มิลลิเมตร ภายใน 12 ชั่วโมงซึ่งต่อไปก็จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลบ่าจากภูเขาและป่าใกล้เคียงลงมาท่วมบ้านเรือนได้ในระยะเวลาสั้นๆ หลังจากภายุได้ผ่านไปแล้ว

4. ความรุนแรงและอันตรายจากพายุฤดูร้อน
          พายุฤดูร้อนเป็นพายุที่เกิดขึ้นโดยเหตุและวิธีการต่างกับพายุดีเปรสชั่น และเกิดบนผืนแผ่นดินที่ร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนแต่เป็นพายุที่มีบริเวณย่อมๆ มีอาณาเขตเพียง 20-30 ตารางกิโลเมตร แต่อาจมีลมแรงมากถึง 47 น็อต หรือ 87 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้มีกำลังแรงที่จะทำให้เกิดความเสียหายได้มากเหมือนกันแต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 2-3 ชั่วโมง อันตรายที่เกิดขึ้นคือ ต้นไม้หักล้มทับบ้านเรือนผู้คน บ้านเรือนที่ทนกำลังแรงลมไม่ไหวพังทะลายกระเบื้องหลังคาปลิวเป็นอันตรายต่อผู้คน ฝนตกหนักและอาจมีลูกเห็บตกได้ ในกรณีที่พายุมีกำลังแรงลูกเห็บอาจจะตกถูกผู้คนได้รับความบาดเจ็บและบ้านช่องเสียหายได้

การเตรียมการป้องกันอันตรายจากพายุ
          1. ติดตามสภาวะอากาศ ฟังคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาสม่ำเสมอ

          2. สอบถาม แจ้งสภาวะอากาศร้ายแก่กรมอุตุนิยมวิทยา

          3. ปลูกสร้าง ซ่อมแซม อาคารให้แข็งแรง เตรียมป้องกันภัยให้สัตว์เลี้ยงและพืชผลการเกษตร 

          4. ฝึกซ้อมการป้องกันภัยพิบัติ เตรียมพร้อมรับมือ และวางแผนอพยพหากจำเป็น 

          5. เตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค ไฟฉาย แบตเตอรี่ วิทยุกระเป๋าหิ้วติดตามข่าวสาร 

          6. เตรียมพร้อมอพยพเมื่อได้รับแจ้งให้อพยพ 

การสร้างเกม RPG Maker XPสำหรับเด็ก

การสร้างเกมสำหรับเด็ก บทเรียนที่ 1 เริ่มต้นสร้างเกม RPG Maker XP

RPG-Maker คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรและเริ่มต้นสร้างอย่างไร
คำชี้แจง         บล็อกการสอนเทคนิคการสร้างเกมสำหรับเด็กนี้ มุ่งเน้นแนะนำวิธีการสร้างเกมการศึกษาด้วยโปรแกรม RPG-Maker XP ศึกษาเรียบเรียงโดยอาจารย์พงศ์ปณต ผ่องพันธุ์งาม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรม (programming skill) สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนจิตรลดาเท่านั้น ซึ่งเริมมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 จนถึงปีการศึกษาปัจจุบัน มิได้มีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจการค้าใดๆ ทั้งสิ้น
         ขอขอบพระคุณผู้สร้างโปรแกรม RPG-MakerXP หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมนี้ แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่เคยรู้จัก (ทราบว่าเป็นคนญี่ปุ่น) แต่ขอประกาศต่อสาธารณะว่า โปรแกรมของท่านมีประโยชน์ต่อนักเรียนของเราเป็นอย่างยิ่ง
         สำหรับผู้สนใจ ข้าพเจ้ายินดีแบ่งปันความรู้เท่าที่ตัวเองมี เพื่อส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ในประเทศไทยของเรา หากมีข้อผิดพลาดก็ขออภัยและโปรดให้คำแนะนำติชมที่ด้านล่างของบล็อกจักเป็นพระคุณยิ่ง เพื่อข้าพเจ้าจะได้พัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
         
ขอขอบคุณ
         อ.พงศ์ปณต

เกริ่นนำ
RPG maker หรือ RPG School เป็นโปรแกรมสำหรับช่วยในการสร้างเกมในรูปแบบของ RPG ที่ง่ายที่สุด เนื่องจากส่วนติดต่อผู้ใช้ การกำหนดค่าต่างๆ การเขียนสคริปต์ ถูกกำหนดมาให้สามารถเข้าใจได้ง่ายและไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ในการเขียนโปรแกรมแต่อย่างใด เพียงแต่มีพื้นฐานการสร้างภาพกราฟิคบวกกับจินตนาการก็สามารถสร้างเกม RPG ได้แล้ว และถ้าทำความเข้าใจกับระบบต่างๆ ของตัวโปรแกรมให้ละเอียด เรายังสามารถสร้างสรรค์เกมแนวอื่นๆ นอกจากเกม RPG อีกด้วย
 จุดประสงค์ทั่วไป
เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น ซึ่งการเขียนโปรแกรมนั้นถือเป็นทักษะสูงสุดของการใช้คอมพิวเตอร์ ทำให้เปลี่ยนสถานะของนักเรียนจากผู้ใช้ (User) มาเป็นผู้สร้าง (Builder) หรือมีคำเรียกเฉพาะในทางคอมพิวเตอร์ว่านักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Computer Programmer) สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 นี้ จะเป็นการฝึกการเขียนโปรแกรมที่ไม่สลับซับซ้อนมาก อีกทั้งให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลินและตอบสนองต่อความต้องการการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัยของเด็กนักเรียนประถมปีที่ 4 เป็นอย่างมาก ด้วยการสร้างเกม RPG ด้วยตนเอง

• เนื้อหา

ตัวโปรแกรมประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้
(1) เมื่อติดตั้งโปรแกรมและเข้าสร้างเกมครั้งแรก เลือกคำสั่ง โปรเจ๊ค- สร้างโปรเจ็คใหม่ ดังรูป
 
(2)  โปรแกรมจะให้เรากำหนดชื่อของโปรเจ็ค และชื่อเกม ให้เปลี่ยนเป็นชื่อที่เราต้องการ ทั้งสองช่องเติมข้อความ มีข้อแนะนำคือควรตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษจะสะดวกและง่ายต่อการค้นหาเกมภายหลัง
 
 (3) เมื่อกดตกลง โปรแกรมจะเข้าสู่การสร้างเกมโดยปรากฏหน้าจอดังรูป
 
(4) ปุ่มคำสั่งที่สำคัญคือ เลเยอร์ของการสร้างฉากที่แบ่งออกเป็น ชั้นล่าง ชั้นกลาง ชั้นบนและชั้นเหตุการณ์
ซึ่งต้องใช้ในการผสมกันเวลาสร้างรวมกันทั้ง 3 เลเยอร์ ดังภาพตัวอย่างนี้
(5) ภาพตัวอย่างของการสร้างฉากที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว
 
 (6) ขั้นต่อมาคือการทดสอบเกมว่า เล่นได้จริงหรือไม่ ให้กดที่ปุ่ม ทดสอบเกม หรือกดปุ่ม F12 โปรแกรมจะแสดงกรอบข้อความชี้แจงว่าโปรเจ็คมีการแก้ไข (เราสร้างไว้ทั้งหมด) ต้องการที่จะบันทึกหรือไม่ ในที่นี้ให้ตอบ Yes ทุกครั้ง
 

(7) เสร็จแล้วโปรแกรมจะแสดงหน้าจอเริ่มเกมดังภาพตัวอย่างถัดไป ให้กดเลือก New Game ด้วยการกดปุ่ม Enter ที่แป้นพิมพ์
 
 (8) ภาพแสดงฉากการเริ่มเกม ประกอบด้วยฉากและตัวละคร ฮีโร่
  

 (โปรดศึกษาเนื้อหาในบทเรียนที่ 2 ต่อไป)

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว


บทความน่ารู้ : เรื่องสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว
ที่นี่คือศูนย์รวมบทความที่น่าสนใจและให้ความรู้จากทุกมุมโลก เพื่อเป็นแหล่งความรู้สำหรับคนไทยทุกคน


มารู้จักแผ่นดินไหวกันเถอะ
        แผ่นดินไหว เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิต และทรัพย์สินของมนุษย์ได้เป็นบริเวณกว้าง เชื่อกันว่าทุกประเทศได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ปัจจุบันพบว่ามีความพยายามอย่างมากในหลายประเทศ ซึ่งได้รับอันตรายจากแผ่นดินไหว ศึกษา และทำความเข้าใจถึงกลไกของการเกิดแผ่นดินไหว เพื่อการพยากรณ์แผ่นดินไหว และทำนายเหตุการณ์ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด? ที่ไหน? ขนาดเท่าใด? แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ขณะนี้จึงยังไม่มีผู้ใดสามารถ พยากรณ์แผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้อง โดยทั่วไปสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเผชิญภัยแผ่นดินไหว คือการเตรียมพร้อมที่ดี แต่ละประเทศควรมีมาตรการในการป้องกัน และบรรเทาภัยแผ่นดินไหวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธรรมชาติของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว รอยเลื่อนต่าง ๆ ให้ความรู้ และข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหวต่อประชาชน ให้มีการแบ่งเขตแผ่นดินไหวตามความเหมาะสมของความเสี่ยงภัย ออกกฎหมายให้อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ สามารถรับแรงแผ่นดินไหวตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่เสี่ยงภัย มีการวางแผนการจัดการที่ดี หากเกิดความเสียหายร้ายแรงหลังการเกิดแผ่นดินไหว เป็นต้น ในกรณีของประเทศไทย แม้ว่าตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิประเทศจะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวต่ำ แต่เพื่อความไม่ประมาท กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมมาตรการข้างต้นโดยมีภารกิจในการตรวจวัดแผ่นดินไหวตลอด 24 ชั่วโมง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศเป็นประจำ ตลอดจนวางแผนจัดตั้งโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสาธารณชนได้
        แผ่นดินไหว เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ เกิดจากการเคลื่อนตัวโดยฉับพลันของเปลือกโลก ส่วนใหญ่ แผ่นดินไหวมักเกิดตรงบริเวณขอบ ของแผ่นเปลือกโลกเป็นแนวแผ่นดินไหวของโลก การเคลื่อนตัวดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากชั้นหินหลอมละลาย ที่อยู่ภายใต้เปลือกโลก ได้รับพลังงานความร้อนจากแกนโลก และลอยตัวผลักดันให้เปลือกโลกตอนบนตลอดเวลา ทำให้เปลือกโลกแต่ละชิ้นมีการเคลื่อนที่ในทิศทางต่าง ๆ กันพร้อมกับสะสมพลังงานไว้ภายใน บริเวณขอบของชิ้นเปลือกโลกจึงเป็นส่วนที่ชนกันเสียดสีกัน หรือแยกจากกัน หากบริเวณขอบของชิ้นเปลือกโลกใด ๆ ไม่ผ่านหรืออยู่ใกล้กับประเทศใดประเทศนั้น ก็จะมีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหวสูง
เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น นอกจากนั้นพลังที่สะสมในเปลือกโลก ถูกส่งผ่านไปยังเปลือกโลกพื้นของทวีป ตรงบริเวณรอยร้าวของหินใต้พื้นโลกหรือที่เรียกว่า "รอยเลื่อน" เมื่อระนาบ รอยร้าวที่ประกบกันอยู่ได้รับแรงอัดมาก ๆ ก็จะทำ ให้รอยเลื่อนมีการเคลื่อนตัวอย่างฉับพลันเกิดเป็น แผ่นดินไหวเช่นเดียวกัน
       แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก (แนวระหว่างรอยต่อธรณีภาค)ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของชั้นหินขนาดใหญ่เลื่อน เคลื่อนที่ หรือแตกหัก และเกิดการโอนถ่ายพลังงานศักย์ผ่านในชั้นหินที่อยู่ติดกัน พลังงานศักย์นี้อยู่ในรูปคลื่นไหวสะเทือน จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว (focus) มักเกิดตามรอยเลื่อน อยู่ในระดับความลึกต่างๆของผิวโลก เท่าที่เคยวัดได้ลึกสุดอยู่ในชั้นแมนเทิลส่วนจุดที่อยู่ในระดับสูงกว่า ณ. ตำแหน่งผิวโลก เรียกว่า "จุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว" (epicenter)การสั่นสะเทือนหรือแผ่นดินไหวนี้จะถูกบันทึกด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ไซส์โมกราฟ
สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหว
 1. กระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ เช่น การเคลื่อนที่ของเปลือกโลก
 2. ภูเขาไฟระเบิด (ในขณะที่แมกมาใต้ผิวโลกเคลื่อนที่ตามเส้นทางสู่ปล่องภูเขาไฟ สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวก่อนมีการระเบิดของภูเขาไฟ)
 3. การกระทำของมนุษย์ เช่น การทดลองระเบิดปรมาณู การระเบิดพื่นที่เพื่อสำรวจวางแผนก่อนสร้างเขื่อน เป็นต้น
คลื่นในแผ่นดินไหว 
คลื่นแผ่นดินไหวถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. คลื่นในตัวกลาง เป็นคลื่นที่มีลักษณะแผ่กระจายเป็นวงรอบๆจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว          แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ
        1.1 คลื่นปฐมภูมิ (คลื่น P) คลื่นตามยาว อนุภาคของคลื่นชนิดนี้เคลื่อนที่ในแนวทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่น สามารถผ่านได้ในตัวกลางทุกสถานะ
        1.2 คลื่นทุติยภูมิ (คลื่น S) คลื่นตามขวาง อนุภาคของคลื่นมีทิศตั้งฉากกับทิศคลื่นเคลื่อนที่ ผ่านได้ในตัวกลางสถานะของแข็ง
2. คลื่นพื้นผิว เป็นคลื่นที่แผ่จากจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว มี 2 ชนิด
        2.1 คลื่น L (Wave of Love : Love wave) เป็นคลื่นที่อนุภาคสั่นในแนวราบ มีทิศทางตังฉากกับการเคลื่อนที่ของคลื่น
        2.2 คลื่น R (Wave of Rayleigh : Rayleigh wave) อนุภาคในคลื่นนี้สั่นเป็นรูปรี ในทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่น  เป็นสาเหตุทำให้พื้นโลกสั่นขึ้นลง
การวัดระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว 
ได้แก่ มาตราริคเตอร์ และ มาตราเมอร์แคลลี่
มาตราริคเตอร์ 
ขนาดและความสัมพันธ์ของขนาดโดยประมาณกับความสั่นสะเทือนใกล้ศูนย์กลาง
• 1-2.9      เล็กน้อย ผู้คนเริ่มรู้สึกถึงการมาของคลื่น มีอาการวิงเวียนเพียงเล็กน้อยในบางคน
• 3-3.9      เล็กน้อย ผู้คนที่อยู่ในอาคารรู้สึกเหมือนมีอะไรมาเขย่าอาคารให้สั่นสะเทือน
• 4-4.9      ปานกลาง ผู้ที่อาศัยอยู่ทั้งภายในอาคาร และนอกอาคาร รู้สึกถึงการ สั่นสะเทือน วัตถุห้อยแขวนแกว่งไกว
• 5-5.9      รุนแรงเป็นบริเวณกว้าง เครื่องเรือน และวัตถุมีการเคลื่อนที่
• 6-6.9      รุนแรงมาก อาคารเริ่มเสียหาย พังทลาย
• 7.0 ขึ้นไป เกิดการสั่นสะเทือนอย่างมากมาย ส่งผลทำให้อาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เสียหายอย่างรุนแรง แผ่นดินแยก วัตถุบนพื้นถูกเหวี่ยงกระเด็น
มาตราเมอร์แคลลี่
ระดับ I      อ่อนมาก ผู้คนไม่รู้สึก ต้องทำการตรวจวัดด้วยเครื่องมือเฉพาะทางเท่านั้น
ระดับ II     คนที่อยู่ในตึกสูง ๆ หรืออยู่นิ่งๆ เริ่มรู้สึกเพียงเล็กน้อย
ระดับ III    คนในบ้านเริ่มรู้สึกเหมือนรถบรรทุกเล็กแล่นผ่าน แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึก
ระดับ IV    ผู้อยู่ในบ้านรู้สึกเหมือนรถบรรทุกหนัแล่นผ่าน
ระดับ V     คนส่วนใหญ่รู้สึก ของเบาในบ้านเริ่มแกว่งไกว
ระดับ VI    คนส่วนใหญ่รู้สึก ของหนักในบ้านเริ่มแกว่งไหว
ระดับ VII   คนตกใจวิ่งออกจากอาคาร สิ่งก่อสร้างเริ่มมีรอยร้าว 
ระดับ VIII  อาคารธรรมดาเสียหายอย่างมาก อาคารออกแบบพิเศษเสียหายเล็กน้อย
ระดับ IX    อาคารออกแบบพิเศษเสียหายอย่างชัดเจน
ระดับ X     อาคารพังเสียหายมาก รางรถไฟงอเสียหาย
ระดับ XI    อาคารสิ่งก่อสร้างพังทลายเกือบทั้งหมด แผ่นดินถล่ม
ระดับ XII   ทุกสิ่งโดนทำลายหมด มองเห็นเป็นคลื่นบนแผ่นดิน
แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว 

หรือบริเวณตำแหน่งศูนย์กลางจะอยู่บริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลก
        - ร้อยละ 80 ของแผ่นดินไหวทั่วโลก เกิดขึ้นรอบๆมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวมีจุดที่เกิดแผ่นดินไหวและการระเบิดของภูเขาไฟบ่อยครั้งมาก โดยเฉพาะบริเวณขอบมหาสมุทรแปซิฟิกที่เรียก ว่า วงแหวนไฟ (Ring of Fire) ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ้ด้านตะวันตกของประเทศเม็กซิโก และด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา
        - ส่วนแนวรอยต่อภูเขาแอลป์ในทวีปยุโรปและภูเขาหิมาลัยในทวีปเอเชียเป็นแหล่งที่เกิดแผ่นดินไหวประมาณร้อยละ 15 ได้แก่ บริเวณประเทศพม่า อัฟกานิสถาน อิหร่าน ตุรกี และแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในยุโรป แผ่นดินไหวในบริเวณนี้มีศูนย์เกิดแผ่นดินไหวระดับตื้นและลึกปานกลาง
        - แนวรอยต่อที่เหลืออีกร้อยละ 5 เกิดในบริเวณแนวสันกลางมหาสมุทรต่างๆของโลก ได้แก่ บริเวณเทือกเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก แนวสันเขาใต้มหาสมุทรอินเดีย อละอาร์กติก ศูนย์เกิดแผ่นดินไหวบริเวณนี้อยู่ที่ระดับตื้นและเกิดเป็นแนวแคบๆ
 วิธีปฏิบัติตัวขณะเกิดแผ่นดินไหว
• ตั้งสติ อยู่ในที่ที่แข็งแรงปลอดภัย ห่างจากประตู หน้าต่าง สายไฟฟ้า เป็นต้น
• ปฏิบัติตามคำแนะนำ ข้อควรปฏิบัติของทางราชการอย่างเคร่งครัด ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป
• ไม่ควรทำให้เกิดประกายไฟ เพราะหากมีการรั่วซึมของแก๊สหรือวัตถุไวไฟ อาจเกิดภัยพิบัติจากไฟไหม้ ไฟลวก ซ้ำซ้อนกับแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นอีก
• เปิดวิทยุรับฟังสถานการณ์ คำแนะนำคำเตือนต่าง ๆ จากทางราชการอย่างต่อเนื่อง
• ไม่ควรใช้ลิฟต์ เพราะหากไฟฟ้าดังอาจมีอันตรายจากการติดอยู่ภายใต้ลิฟต์
• มุดเข้าไปนอนใต้เตียงหรือตั่ง อย่าอยู่ใต้คานหรือที่ที่มีน้ำหนักมาก
• อยู่ใต้โต๊ะที่แข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งปรักหักพังร่วงหล่นลงมา
• อยู่ห่างจากสิ่งที่ไม่มั่นคงแข็งแรง
• ให้รีบออกจากอาคารเมื่อมีการสั่งการจากผู้ที่ควบคุมแผนป้องกันภัย หรือผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้
• หากอยู่ในรถ ให้หยุดรถจนกว่าแผ่นดินจะหยุดไหวหรือสั่นสะเทือนหลังเกิดแผ่นดินไหว
• ตรวจเช็คการบาดเจ็บ และการทำการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อให้แพทย์ได้ทำการรักษาต่อไป
• ตรวจเช็คระบบน้ำ ไฟฟ้า หากมีการรั่วซึมหรือชำรุดเสียหาย ให้ปิดวาล์ว เพื่อป้องกันน้ำท่วมเอ่อ ยกสะพานไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าดูด หรือไฟฟ้าช็อต
• ตรวจเช็คระบบแก๊ส โดยวิธีการดมกลิ่นเท่านั้น หากพบว่ามีการรั่วซึมของแก๊ส (มีกลิ่น) ให้เปิดประตูหน้าต่าง แล้วออกจากอาคาร แจ้งเจ้าหน้าที่ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนผู้ที่รับผิดชอบได้ทราบในโอกาสต่อไป
• เปิดฟังข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำ จากทางราชการโดยตลอด
• ไม่ใช้โทรศัพท์โดยไม่จำเป็น
• อย่ากดน้ำล้างส้วม จนกว่าจะมีการตรวจเช็คระบบท่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะอาจเกิดการแตกหักของท่อในส้วม ทำให้น้ำท่วมเอ่อหรือส่งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์
• ออกจากอาคารที่ชำรุดโดยด่วน เพราะอาจเกิดการพังทลายลงมา
• สวมรองเท้ายางเพื่อป้องกันสิ่งปรักหักพัง เศษแก้ว เศษกระเบื้อง
• รวมพล ณ ที่หมายที่ได้ตกลงนัดหมายกันไว้ และตรวจนับจำนวนสมาชิกว่าอยู่ครบหรือไม่
• ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปปฏิบัติงานในบริเวณที่ได้รับความเสียหาย และผู้ไม่มีหน้าที่หรือไม่เกี่ยวข้อง ไม่ควรเข้าไปในบริเวณนั้น ๆ หากไม่ได้รับการอนุญาต
• ออกจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นใต้น้ำซัดฝั่งได้ แม้ว่าการสั่นสะเทือนของแผ่นดินจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม






ตํานานผาแดงนางไอ่

ตามตำนานเล่าขานสืบต่อกันมา มูลเหตุที่ทำให้เกิด "หนองหาน" มีเรื่องราวเกี่ยวพันกับ
วรรณคดีพื้นบ้านอิสานเรื่องผาแดง-นางไอ่ ตำนานรักอันลึกซึ้งของหนึ่งหญิงสองชาย
เมื่อฝ่ายหนึ่งพลาดรักและถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ก็กลายเป็นสงครามทำให้บ้าน
เมืองถล่มทลาย กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ และวรรณคดีอิสานเรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของบุญบั้งไฟ
วัฒนธรรมประเภณีที่ยิ่งใหญ่ขึ้นชื่อลือชาของชาวอิสานมาแต่บรรพกาล

"พญาขอม" ผู้ครองเมืองเอกชะทีตา มีธิดานางหนึ่งชื่อ "นางไอ่" หรือนางไอ่คำ เป็นหญิง
ที่มีรูปร่างหน้าตางดงาม ซึ่งจะหาสาวงามนางใดในสามภพมาเทียบมิได้ ความงดงามของเธอ
เป็นที่เลื่องลือไปทั่วแดนไกล เจ้าชายหลายหัวเมืองต่างหมายปองอยากได้มาป็นคู่ครอง

"ท้าวผาแดง" เจ้าชายเมืองผาโพง ทราบข่าวลือถึงศิริโฉมอันงดงามของนางไอ่ ก็เกิด
ความหลงใหลไฝ่ฝันในตัวนาง จึงวางแผนทอดสัมพันธไมตรีด้วยการส่งแก้วแหวนเงินทอง
และผ้าแพรพรรณเนื้อดไปฝากนางไอ่ เมื่อมหาดเล็กนำสิ่งของไปมอบให้ แถมยังได้บอก
นางไอ่ถึงความสง่างาม องอาจ ผึ่งผายของท้าวผาแดงให้ฟัง เท่านั้นเอง นางไอ่ก็เกิดความ
สนใจและมอบเครื่องบรรณาการกลับมาฝากท้าวผาแดงเป็นการตอบแทนด้วย

ก่อนที่มหาดเล็กจะเดินทางกลับนางไอ่ได้ฝากคำเชื้อเชิญท้าวผาแดงซึ่งตั้งทัพรออยู่นอกเมือง
ให้เข้าพบนางที่วังพญาขอม และคงเป็นด้วยบุพเพสันนิวาส ทำให้รักแรกพบของคนคู่นี้
เป็นรักที่จริงใจและจริงจัง จนคนทั้งสองได้เสียกันไปอย่างสุดจะยั้งใจได้

ฝ่าย "ท้าวพังคี" ลูกชายพญาศรีสุทโธ พญานาคผู้ครองเมืองบาดาล ก็เป็นอีกตนหนึ่งที่มี
ความไฝ่ฝันอยากยลศิริโฉมของนางไอ่ ทั้งนี้ก็เพราะเป็นเวรกรรมในอดีตชาตินั้นบันดาล
ให้เป็นไป

ฝ่ายพญาขอมเห็นว่านางไอ่ก็โตเต็มสาวแล้ว จึงมาสาส์นแจ้งไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ให้ทำ
บั้งไฟมาจุดแข่งขันกันที่เมืองเอกชะทีตา เพื่อจุดถวายพระยาแถนผู้เป็นใหญ่ในชั้นฟ้าบันดาล
ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลประการหนึ่ง ส่วนอีกประการหนึ่ง หากบั้งไฟเมืองใหนขึ้นสูงกว่า
ก็จะได้นางไอ่ธิดาสาวผู้เลอโฉมไปเป็นคู่ครอง

พญาขอมได้กำหนดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน6 เป็นวันงาน ทำให้เจ้าชายเมืองต่างๆทำบั้งไฟ
หมื่นบั้งไฟแสนมาจุดแข่งขันกันอย่างมากมาย บุญบั้งไฟครั้งนั้นนับเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่
มโหฬาร พอถึงวันงานผู้คนก็หลั่งใหลมาทั่วทุกสารทิศ ทั้งยังมีการแข่งขันตีกลอง ซึ่งคนอิสาน
เรียกว่า "เส็งกอง" กันอย่างครึกครื้น หนุ่มสาวต่าง "จ่ายผญา" เกี้ยวพาราสีกันอย่างสนุกสนาน

บุญบั้งไฟในครั้งนี้ แม้ท้าวผาแดงจะไม่ได้รับสาส์นเชิญให้นำบั้งไฟไปร่วมงานด้วยก็ตาม
แต่พญาขอมว่าที่พ่อตา ก็ให้การต้อนรับท้าวผาแดงเป็นอย่างดี

ฝ่ายท้าวพังคี เจ้าชายเมืองบาดาล ก็อยากมาร่วมงานกับมนุษย์ เพราะต้องการยลโฉมนางไอ่
เป็นกำลัง และคิดวางแผนในใจว่า บุญบั้งไฟครั้งนี้ต้องไปให้ได้ แม้พ่อจะทัดทานอย่างไรก็ตาม
จากนั้นก็พาไพร่พลส่วนหนึ่งออกเดินทางขึ้นมาเมืองมนุษย์

ก่อนโผล่ขึ้นเมืองเอกชะทีตาของพญาขอมผู้เป็นใหญ่ ท้าวพังคีก็พาบริวารแปลงร่างเป็นมนุษย์บ้าง
สัตว์บ้าง ส่วนท้าวพังคีก็ได้แปลงร่างเป็นกระรอกเผือก ซึ่งชาวอิสานเรียกว่า "กระรอกด่อน"
ได้ออกติดตามลอบชมนางโฉมนางไอ่ในขบวนแห่ของพญาขอม เจ้าเมือง ไปอย่างหลงใหล
ในความงามของนางไอ่

การจุดบั้งไฟแข่งขันเป็นไปอย่างสนุกสนาน ทุกคนใจจดใจจ่ออยากรู้ว่าบั้งไฟเจ้าชายเมืองใหน
จะชนะและได้นางไอ่ไปครอง ซึ่งการจุดบั้งไฟครั้งนั้น ท้าวผาแดงและพญาขอมมีเดิมพันกันว่า
ถ้าบั้งไฟท้าวผาแดงชนะบั้งไฟพญาขอมแล้ว ก็จะยกนางไอ่ธิดาสาวให้ไปเป็นคู่ครอง

ผลปรากฏว่า บั้งไฟของพญาขอมไม่ยอมขึ้นจากห้าง ส่วนของท้าวผาแดงแตก(ระเบิด)คาห้าง
คงมีแต่บั้งไฟของพญาฟ้าแดด เมืองฟ้าแดดสูงยาง และของพญาเซียงเหียนเท่านั้นที่
ขึ้นสู่ท้องฟ้านานถึง 3วัน3คืน จึงตกลงมา แต่พญาทั้งสองนั้นเป็นอาของนางไอ่ เป็นอันว่าเธอ
เธอจึงไม่ตกเป็นคู่ครองของใคร

เมื่อบุญบั้งไฟเสร็จสิ้นลงท้าวผาแดงและท้าวพังคี ต่างฝ่ายต่างกลับบ้านเมืองของตน ในที่สุด
ท้าวพังคีก็ทนอยู่บ้านเมืองแห่งตนไม่ได้ เพราะหลงใหลในศิริโฉมอันงดงามของนางไอ่
จึงพาบริวารย้อนขึ้นมายังเมืองเอกชะทีตาอีก โดยแปรงร่างเป็นกระรอกเผือกอย่างเดิม
ส่วนที่คอแขวนกระดิ่งทอง ไปเกาะอยู่บนกิ่งไม้ใกล้หน้าต่างห้องนอนของนาง

เมื่อเสียงกระดิ่งทองดังกังวาลขึ้น นางไอ่ได้ยินก็เกิดความสงสัย จึงเปิดกหน้าต่างออกไปดู
เห็กระรอดเผือกน่ารักน่าเอ็นดู นางก็เกิดความพอใจอยากได้ จึงสั่งให้นายพรานฝีมือดี
ออกติดตามจับกระรอกเผือกใด้ แต่จนแล้วจนรอดนายพรานก็จับไม่ได้ นางไอ่เกิดความไม่พอใจ
ขึ้นมาแทนที่ และสั่งให้นายพรานจับมาให้ได้ไม่ว่าจะจับเป็นหรือจับตาย 

นายพรานออกติดตามกระรอกเผือก เริ่มตั้งแต่บ้านพันดอน บ้านน้ำฆ้อง ก็ไม่มีโอกาสจับ
กระรอกเผือกเสียที จึงไล่ติดตามมาจนถึงบ้านนาแบก บ้านเหล่าหมากบ้า บ้านเหล่าแชแลหนองแวง
บ้านเหล่าใหญ่ บ้านเมืองพริก บ้านคอนสาย บ้านม่วง ก็ยังจับไม่ได้

ในที่สุด ผลกรรมแต่ชาติปางก่อนตามมาทัน เมื่อกระรอกเผือกตัวน้อยหนีนายพรานมาถึง
ต้นมะเดื่อที่มีผลสุกเต็มต้น เจ้ากระรอกน้อยก็ก้มหน้าก้มตากัดกินลูกมะเดื่อด้วยความหิวโหย
นายพรานไล่ตามมาทันก็เกิดความโมโหที่จับเป็นไม่ได้ จึงตัดสินใจจับตาย ด้วยการใช้หน้าไม้
อาบยาพิษ ยิงถูกร่างเจ้ากระรอกเผือกเต็มรัก กระรอกเผือกหรือท้าวพังคี รู้ดีว่าต้องตายแน่ๆ
จึงสั่งให้บริวารกลับเมืองบาดาลเพื่อนำเอาความไปเล่าให้บิดาทราบ และก่อนสิ้นใจ
ท้าวพังคีก็แสดงอิทธิฤทธิ์ โดยร่ายมนต์อธิษฐานว่า "ขอให้เนื้อของตนมีมากมาย 8000
เล่มเกวียน มากพอเลี้ยงผู้คนได้ทั้งเมืองอย่างทั่วถึง"


เมื่อกระรอกเผือกสิ้นใจตาย นายพรานกับพวกนักล่าฝีมือฉกาจ ก็นำเอาร่างของกระรอกเผือก
ไปชำแหละอาเนื้อที่บ้านเชียงแหว เมื่อนายพรานปาดเอาเนื้อให้ผู้คนทั้งบ้านใกล้บ้านไกล
ได้กินกัน ก็ปรากฎว่าเนื้อของกระรอกน้อยก็เพิ่มขึ้นมาอย่างทวีคูณ ผู้คนในเมืองต่างพากัน
กินเอกระรอกอย่างอิ่มหมีพีมัน ยกเว้นผู้คนที่บ้านดอนแม่หม้ายไม่มีผัว หรือ "บ้านดอนแก้ว"
ซึ่งอยู่กลางทุ่งหนองหานเท่านั้น ที่พวกพรานไม่ได้แบ่งปันให้กิน

ฝ่ายบริวารท้าวพังคีเมื่อกลับถึงเมืองบาดาล ก็เล่าเหตุการณ์ท้าวพังคีถูกนายพรานฆ่าตาย
ให้พญานาคราชผู้เป็นบิดาฟังบิดาท้าวพังคีก็เกิดความกริ้วโกรธา สั่งจัดบริวารเป็นริ้วขบวน
นาคา ขึ้นไปอาละวาดเมืองพญาขอมให้ถล่มทลายหายแค้น พร้อมประกาศก้องว่า "ใคร
กินเนื้อลูกภังคีของข้า พวกมึงอย่าไว้ชีวิต"


พญานาคพาบริวารออกอาละวาดไปทั่วแดนเมืองเอกชะทีตา เสียงดังครืนๆ ฆ่าผู้คนตายไป
อย่างมากมายสุดคณานับ แผ่นดินเมืองพญาขอมก็ล่มทลายลงเป็นหนองหาน ส่วนบ้านดอนแก้ว
หรือดอนแม่หม้าย แห่งเดียวที่ผู้คนไม่ได้กินเนื้อท้าวพังคี จึงไม่ได้ล่มทลายลงดังที่เห็นในปัจจุบัน

ขณะที่บ้านเมืองกำลังล่มทลายเพราะอิทธิฤทธิ์ของพญานาคศรีสุทโธอยู่นั้น ท้าวผาแดง
ก็ขี่ม้าบักสามมุ่งหน้าไปหานางไอ่ ท้าวผาแดงเห็นนาคเต็มไปหมด และได้เล่าเรื่องที่พบเห็น
ให้นางฟัง แต่นางกลับไม่สนใจ แต่ได้ทำอาหารที่มีกลิ่นหอมหวนเป็นพิเศษมาให้ท้าวผาแดงรับประทาน

ท้าวผาแดงจึงถามว่า เนื้ออะไร ทำไมจึงหอมนัก ก็ได้รับคำตอบจากนางว่า "เนื้อกระรอก
นายพรานยิงตายนำมาให้"


เท่านั้นเอง ท้าวผาแดงก็ทราบในทันทีว่าเป็นเนื้อของท้าวภังคี ลูกชายเจ้าพ่อศรีสุทโธนาค
เจ้าเมืองบาดาล จึงไม่ยอมกินอาหาร "ต้องห้าม" ที่นางยกมาให้ พอตกตอนกลางคืน
ผู้คนกำลังหลับสนิท เหตุการณ์ร้ายก็เกิดขึ้น เสียงครืนๆแผ่นดินถล่มมาแต่ไกล ท้าวผาแดง
ก็รู้ทันทีว่าเป็นการกระทำของพญานาค จึงคว้าร่างนางไอ่ขึ้นหลังม้าบักสามควบหนีออกจากเมือง
อย่างสุดฝีเท้าเพื่อให้พ้นภัย

แต่นางไอ่ได้กินเนื้อกระรอกกับชาวเมืองด้วย แม้ว่าท้าวผาแดงจะควบม้าคู่ชีพไปทางใหน
นาคก็ดำดินติดตามไป แผ่นดินก็ถล่มทลายตามไปด้วย ท้าวผาแดงควบม้าไปทางภูพานน้อย
ต้นลำห้วยสามพาด เพื่อหนีไปยังเมืองผาโพง พญานาคก็ติดตามอย่างไม่ลดละ และแปลงร่าง
เป็นขอนไม้ยางขนาดยักษ์ขวางเส้นทางไว้ ม้าบักสามก็กระโดดข้ามอย่างสุดฤทธิ์ สองขาหน้า
ข้ามขอนไม้ไปได้แต่สองขาหลังคู้ขึ้นมาไม่ข้าม จึงทำให้ม้าเสียหลักล้มพังพาบลง อวัยวะ
เพศของม้าไปกระแทกกับภูพานน้อยเป็นร่องลึกลงไป และกลายเป็นต้นลำห้วยสามพาด
มาตั้งแต่บัดนั้น

ในที่สุดนางไอ่ก็ถูกพญานาคใช้หางฟาดตกลงจากหลังม้า และพญานาคก็คว้าตัวนางไป
ต่อหน้าท้าวผาแดง สุดแรงที่จะตามเมียรักกลับคืนมา

เมื่อท้าวผาแดงกลับไปถึงเมืองผาโพง ก็คิดถึงนางไอ่เมียรัก ตรอมใจ ข้าวปลาไม่กิน ร่างกายผ่ายผอม
สุดท้ายท้าวผาแดงจึงทำพิธีฆ่าตัวตาย เพื่อต้องการไปเป็นหัวหน้าผี นำทัพไปรบกับพญานาค
ช่วงชิงนางไอ่กลับคืนมาให้จงได้

เมื่อท้าวผาแดงตายเป็นผี ก็ได้ไปเป็นหัวหน้าผีสมดังประสงค์ พอได้โอกาสเหมาะ ผีผาแดง
ก็เตรียมไพร่พลเดินทัพผีไปรบกับพญานาค บริวารท้าวผาแดงมีเป็นแสนๆ เดินเท้าเสียงดัง
อึกทึกปานแผ่นดินจะถล่ม เข้ารายล้อมเมืองพญานาคเอาไว้ทุกด้าน ต่างฝ่ายต่างใช้อิทธิฤทธิ์
รบกันนานถึง 7วัน7คืน ไม่มีใครแพ้ชนะ

ฝ่ายเจ้าพ่อศรีสุทโธ เจ้าเมืองบาดาลซึ่งแก่ชราภาพมากแล้ว ก็ไม่อยากก่อกรรมกก่อเวร
เพราะต้องการไปเกิดในแผ่นดินพระศรีอาริยเมตไตรย์อีก จึงไปหาท้าวเวสสุวัณ ผู้เป็นใหญ่
ให้มาตัดสินความ ท้าวเวสสุวัณจึงเรียกทั้งสองฝ่ายมา โดยให้ทั้งสองฝ่ายเล่าเรื่องที่เกิดขึนให้ทราบ
ฟังเรื่องทั้งหมดจบแล้ว ท้าวเวสสุวัณจึงบอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นผลของ "บุพกรรม"
หรือกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนที่ตามาในชาตินี้ และทั้งสองฝ่ายก็มีเหตุผลก้ำกึ่งกัน จึงให้
ทั้งสองเลิกรา ไม่ต้องเข่นฆ่ากันอีก ขอให้มีเมตตาต่อกัน และให้ทั้งสองฝ่ายรักษาศีลห้า
ปฏิบัติธรรมและมีขันติธรรมต่อไป ส่วนนางไอ่ ระหว่างนี้ก็ให้อยู่เมืองพญานาคไปก่อน รอให้
พระศรีอาริยเมตไตรย์จุติมาตัดสินว่าจะตกเป็นของใคร

ท้าวผาแดงและพญานาคได้ฟังคำสั่งสอนของท้าวเวสสุวัณก็กลับมีสติ เข้าใจในเหตุและผล
ต่างฝ่ายต่างอนุโมทนาสาธุการ เหตุร้ายจึงยุติลงด้วยความเข้าใจ มีการให้อภัยกันในที่สุด
นิยายรักเศร้าสุดประทับใจเรื่องผาแดง-นางไอ่ จึงจบลงแต่เพียงเท่านี้

--เอวัง-


-นิยายรักอมตะ "ผาแดง-นางไอ่"
ไม่เพียงเป็นนิยายรักพื้นบ้าน
ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีตลอดทั่วทั้งภาคอิสานเท่านั้น
นิยายเรื่องนี้ยังได้รับการนำมาเป็นส่วนหนึ่ง
ของประวัติเมืองสกลนครด้วย

-หนองหาน ไม่ใช่จะมีอยู่แต่เพียงในจังหวัดสกลนคร
แต่ยังมีอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีด้วย
และหากจะกล่าวถึงแหล่งน้ำกว้างใหญ่
ที่พญานาคได้ทำลายเมืองเอกชะทีตาลง
จนกลายเป็นหนองน้ำใหญ่นั้น
แหล่งน้ำขนาดใหญ่ในหลายจังหวัดของภาคอิสาน
อย่าง บึงพลาญชัย ก็มีประวัติที่อิงอยู่กับเรื่องพญานาค
ทำลายเมืองเอกชะทีตานี้อยู่ด้วยเช่นกัน

-เรื่อง "ผาแดง-นางไอ่" นอกจากจะเป็นนิยายรักอมตะของอิสานแล้ว
ยังเป็นวรรณกรรมโบราณหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่กล่าวถึง
พิธีจุดบั้งไฟขอฝนของชาวอิสานไว้อย่างชัดเจน เป็นหลักฐานถึง
ประเภณีและความเชื่อเกี่ยวกับการจุดบั้งไฟขอฝนของชาวอิสาน
ที่แน่ชัดว่ามีมาแล้วหลายร้อยปี 
จนในปัจจุบัน ในงานประเภณีบุญบั้งไฟโดยทั่วไปของชาวอิสาน
สัญลักษณ์เรื่อง "ผาแดง-นางไอ่" คือ ท้าวผาแดงและนางไอ่คำ
บนหลังม้าบักสาม ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของขบวนแห่บั้งไฟ
ทุกๆขบวนไปแล้ว



สาเหตุการเกิดภูเขาไฟ และประเภทของภูเขาไฟ

สาเหตุการเกิดภูเขาไฟ และประเภทของภูเขาไฟ

               ภัยจากภูเขาไฟระเบิดเป็นอีกมหันตภัยหนึ่งที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ  ภูเขาไฟพบเห็นอยู่ในทุกภูมิภาคของโลกแม้แต่ในประเทศไทยก็มีภูเขาไฟอยู่หลายลูกกระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่างๆ  ภัยจากภูเขาไฟสำหรับคนไทยแล้วอาจจะดูห่างไกลกว่าภัยธรรมชาติชนิดอื่น แต่ถึงกระนั้นเราก็ไม่ควรเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงเสียทีเดียว นอกจากความน่าสะพรึงกลัวจากภัยภูเขาไฟแล้วภูเขาไฟบางแห่งก็มีทัศนียภาพที่สวยงามตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คงจะหนีไม่พ้นภูเขาฟูจิที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงที่อยู่ลึกลงไปภายใต้แผ่นดินความสวยงามอาจกลายเป็นภัยที่สามารถเผาผลาญชีวิตมนุษย์ สัตว์ และพืชได้ในพริบตาเดียว
 
ภูเขาไฟฟูจิ
รูปจาก http://www.asiavacation.com/
                  ปัจจุบันยังคงเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดเกิดขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ละครั้งความเสียหายของผู้เสียชีวิตอยู่ที่หลักหมื่น ในแง่ของการสูญเสียประชากรอาจจะไม่รุนแรงเท่าภัยธรรมชาติชนิดอื่นแต่ในเชิงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์แล้วภัยธรรมชาติชนิดนี้ต้องถือว่าเป็นภัยที่น่าตระหนกอย่างยิ่ง
                  อินโดนีเซียประเทศเพื่อนบ้านของเราที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะแก่งมากมายเคยเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดครั้งรุนแรงมาแล้วอย่างน้อยสามครั้ง
เมื่อราว 7 หมื่น5พันปีมีมาแล้วภูเขาไฟโทบา บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียเกิดระเบิดขึ้นทำให้มีเศษหินและขี้เถ้าขนาดยักษ์แผ่ปกคลุมโลกและบดบังดวงอาทิตย์ จนมีข้อสันนิษฐานตามมาว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสาเหตุของการเกิดยุคน้ำแข็งยุคใหม่ของโลกขึ้น
                  ปี ค.ศ.1815 ภูเขาไฟแทมโบล่า(Tambora) ในประเทศอินโดนีเซียเกิดระเบิดขึ้น การระเบิดในครั้งนั้นทำให้แผ่นดินสั่นสะเทือนและส่งเสียงกึกก้องดังไปไกลกว่า 850 กิโลเมตร การระเบิดในครั้งนั้นทำให้เกิดเศษธุลีและผงฝุ่นมหาศาลแผ่ปกคลุมโลกจนกระทั่งโลกในปีนั้นไม่มีฤดูร้อน หลังจากอีกกว่า 150 ปีต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการระเบิดของแทมโบล่าเป็นการระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรงที่สุดในรอบหมื่นปี แม้แต่การระเบิดของภูเขาไฟ วิสุเวียส  (visuvius)ที่เกิดเป็นลาวาไหลท่วมทับคนทั้งเป็น ในอิตาลี หรือแม้กระทั่งการระเบิดของภูเขาไฟบนเกาะการากา (krakatoa) ประเทศอินโดนีเซียในปี 1883 ที่ทำให้เกิดเสียงกึกก้องดังไปถึง 4,828 กิโลเมตร( 3 พันไมล์) เกิดคลื่นสึนามิสูงประมาณ 100 ฟุต และทำให้ประชากรเสียชีวิตมากกว่า 3.5 หมื่นก็ยังไม่สามารถนำไปเทียบเคียงกับความรุนแรงของการระเบิดของภูเขาไฟแทมโบล่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการระเบิดของภูเขาไฟแทมโบล่ามีความรุนแรงเทียบเท่ากับระเบิดปรมาณูที่อเมริกาทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในคราวสงครามโลกครั้งที่สองถึง 60,000 ลูกเมื่อมีการระเบิดพร้อมกัน นั้นคือความน่าสะพรึงกลัวของภัยภูเขาไฟระเบิด
 
แนวภูเขาไฟในประเทศอินโดนีเซีย
รูปจากhttp://vulcan.wr.usgs.gov
สาเหตุการเกิดภูเขาไฟ และประเภทของภูเขาไฟ
                  เนื่องจากเปลือกโลกชั้นนอกของโลกเรามีพื้นที่ไม่เรียบเสมอกันเปลือกโลกชั้นในมีลักษณะเป็นหินเมื่อได้รับความร้อนที่แผ่ออกมาจากแก่นโลกทำให้กลายเป็นหินเหลวหนืดที่เรียกว่าแมกมา(หินหนืดที่อยู่ภายใต้แผ่นเปลือกโลกจะถูกเรียกว่าแมกมาเมื่อมีการดันตัวมาสู่ชั้นบรรยากาศของโลกจะถูกเรียกว่าลาวา) และเมื่อได้รับความร้อนจากแก่นโลกมากเข้าก็จะไหลวนเวียนเฉกเช่นเดียวกับน้ำในกาต้มน้ำร้อนที่วิ่งไปรอบกาน้ำพร้อมกับส่งควันพวยพุ่งออกมาตามช่องระบายภูเขาไฟก็เช่นกันและในที่สุดก็พุ่งทะลักออกมาตามรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก
                 โดยทั่วไปแล้วการเกิดภูเขาไฟประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกมาเกยกันหรือที่เรียกตามศัพท์ทางวิชาการว่า subduction zone เปลือกโลกของเราเป็นชั้นหินที่มีความแข็ง มีความหนาประมาณ 40-60 กิโลเมตร ผิวโลกมีลักษณะเป็นแผ่นไม่ได้รวมเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั้งโลก เปลือกโลกถูกแบ่งออกตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ได้เป็น 2 ประเภท Oceanic plate คือแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ใต้มหาสมุทรกับContinental plate หรือแผ่นทวีป ซึ่งปรากฏอยู่ตามส่วนที่เป็นพื้นดิน   ดังนั้นเมื่อได้รับความร้อนจากแก่นโลกก็จะทำให้แผ่นโลกเกิดการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาโดยกะประมาณว่าแผ่นโลกของเราจะมีการเคลื่อนที่ประมาณ 10 เซนติเมตรต่อปี และเมื่อแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นเคลื่อนที่ชนกันก็จะทำให้แผ่นโลกแผ่นหนึ่งมุดลงใต้แผ่นโลกอีกแผ่นหนึ่ง  แผ่นที่มุดต่ำลงจะเข้าสู่ชั้นเปลือกโลกที่มีความร้อนสูงดังนั้นเกิดเป็นพลังงานความร้อนที่พยายามดันตัวออกมาสู่ภายนอก ลักษณะของการเกยกันของแผ่นเปลือกโลกนี้เองที่เราเรียกว่า subduction zone ภูเขาไฟมักจะเกิดตามแนว subduction zoneนี้
 
ภาพการเกิดภูเขาไฟระเบิดตามแนว subduction zone
ภาพจาก http://whyfiles.org
                  ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์ของการเกิดเป็นภูเขาไฟระเบิดจะไม่เกิดตามแนวรอยแยกของแผ่นเปลือกโลกแต่จะเกิดในพื้นที่ช่วงกลางแผ่นเปลือกโลก ปรากฏการณ์เช่นนี้ จะเกิดโดยมีการสะสมของแมกมาจำนวนมากใต้แผ่นเปลือกโลกเมื่อมีจำนวนแมกมาจำนวนมากก็จะเกิดแรงดันจำนวนมหาศาลทำให้แมกมาไหลท่วมออกมาจนสามารถทำให้แผ่นเปลือกโลกขยับได้ นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า mantle plume หรือ hot อย่างเช่นการเกิดภูเขาไฟในหมู่เกาะฮาวาย
 
การเกิดภูเขาไฟระเบิดแบบ hotspot
ภาพจาก http://www.cotf.edu
                  ภูเขาไฟสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทเช่นแบ่งตาม รูปร่าง แบ่งตาม ลักษณะทางกายภาพของสิ่งที่ประทุออกมา แบ่งตามการปะทุ แบ่งตามวัตถุที่มาสะสมกันรอบๆปล่องภูเขาไฟ  แบ่งตามประวัติของการปะทุที่เคยถูกบันทึกไว้  แต่การแบ่งซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดก็คงจะเป็นการแบ่งลักษณะภูเขาไฟรูปร่าง
การแบ่งภูเขาไฟตามรูปร่าง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท(ในบางตำราอาจจะแบ่งเป็น4ประเภท)
1. Shield Volcano หรือที่รู้จักกันในภาษาไทยว่า ภูเขาไฟแบบโล่ห์ ภูเขาไฟแบบนี้เกิดจากธารลาวาเหลวไหลออกมาตามรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก การปะทุของภูเขาไฟชนิดนี้จะไม่ระเบิดรุนแรง แต่เป็นแบบน้ำพุลาวา โดยลาวาจะมีลักษณะที่เหลวและมีอุณหภูมิสูงมากทำให้ไหลไปได้เป็นระยะทางไกลภูเขาไฟที่จัดอยู่ในประเภทนี้จะมีลักษณะกว้างและไม่ชัน ภูเขาไฟ Mauna Loa ในฮาวาย เป็น Shield Volcano ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
 
ภูเขาไฟ Mauna Loa ซึ่งจัดเป็นแบบ Shield Volcano
ภาพจาก http://vulcan.wr.usgs.gov/
2. Composite Cone  หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาไทยว่าแบบกรวยภูเขาไฟสลับชั้น การเกิดภูเขาไฟแบบนี้เกิดจากจากการสลับหมุนเวียนของชั้นลาวาและชั้นเศษหินและจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการประทุอย่างกระทันหัน ในขณะที่แมกมาจะมีความหนืดและอุณหภูมิที่สูงมาก การระเบิดของภูเขาไฟแบบนี้ถือว่ามีความรุนแรงมากที่สุด ภูเขาไฟแบบนี้ได้แก่ภูเขาไฟ ภูเขาไฟฟูจิ (Mt Fuji) ในญี่ปุ่น ภูเขาไฟมายอน (Mt Mayon) ในประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น
 
ภูเขาไฟ Mayon
ภาพจาก http://siliconium.net/
3. Cinder Cone Volcano หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาไทยว่า กรวยกรวดภูเขาไฟ ภูเขาไฟแบบนี้ จะมีลักษณะสูงชันมาก เนื่องจากลาวามีความหนืดมากทำให้ไหลได้ไม่ต้องเนื่อง ลาวาที่ไหลออกมามีลักษณะเป็นทรงกลม พุ่งออกมาจากปล่องภูเขาไฟเพียงปล่องเดียว ดังนั้นเมื่อเกิดการระเบิดของภูเขาไฟชนิดก็มักจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก 
 
ภูเขาไฟแบบ Cinder Cone Volcano อยู่ทางตอนเหนือของประเทศชิลี
ภาพจาก http://www.geology.wisc.edu
                  ภูเขาไฟกระจัดกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของโลกบางก็เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว บางก็เป็ภูเขาไฟที่รอวันประทุ จากข้อมูลทางด้านธรณีวิทยาระบุโลกเราภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่มีความสูงกว่า 15,000 ฟุตอยู่ถึง 14 แห่ง คือ

ลัลไลเลโคประเทศอาร์เจนตินา-ประเทศชิลี มีความสูง   22109  ฟุต
กัวลาติรี  ประเทศชิลี  มีความสูง  19,918   ฟุต
ตูปันเกไตโต   ประเทศชิลีมีความสูง  19,685  ฟุต
โคโตแปกซีประเทศเอกวาดอร์ มีความสูง   19,393  ฟุต     
เอลมิสตีประเทศเปรูมีความสูง  19,101  ฟุต 
ปิโกเดอโอริซาบาประเทศเม็กซิโกมีความสูง    18,619   ฟุต
ลาสการ์ประเทศชิลี มีความสูง    18,346   ฟุต
โปโปคาเตเปติ ประเทศเม็กซิโกมีความสูง   17,802    ฟุต
เนวาโด เดล รูอิซประเทศโคลัมเบีย มีความสูง    17,457   ฟุต  
ซังเกย์ประเทศเอกวาดอร์ มีความสูง   17,159    ฟุต
อิรัปปูตุนคู ประเทศชิลีมีความสูง   16,939    ฟุต
คลูเชฟสกอย    แหลมแคมชัทกา ประเทศรัสเซีย มีความสูง15,863    ฟุต
กัวกัวปิชินชาประเทศเอกวาดอร์มีความสูง   15,696    ฟุต     
ปูราเช่   ประเทศโคลัมเบีย  มีความสูง     15,256  ฟุต  
ระเบิดของภูเขาไฟ

                   ภูเขาไฟในโลกเรามีทั้งแบบที่เป็นภูเขาไฟมีพลัง (active volcanoes)คือภูเขาที่ยังคงมีการประทุอยู่ ภูเขาไฟสงบ (dormant volcanoes)คือ ภูเขาที่เคยมีการประทุในอดีตส่วนปัจจุบันจะไม่มีการประทุอีก และ ภูเขาไฟดับสนิท (extint volcanoes) คือภูเขาไฟที่ไม่มีการประทุมาตั้งแต่ในอดีต
                   ดังนั้นภูเขาที่อาจจะเกิดการประทุขึ้นได้คือภูเขาไฟมีพลังนั้นเองเมื่อมีการประทุขึ้นของภูเขาไฟ หินหนืดที่อยู่ในแผ่นเปลือกโลกชั้นในซึ่งประกอบไปด้วยธาตุต่างๆที่รวมตัวกันเป็นของเหลวหรือที่รู้จักกันในนามแมกมา ธาตุบางชนิดซึ่งเป็นส่วนประกอบของหินหนืดจะกลายเป็นแก๊สและเมื่อหินหนืดที่มีความร้อนสูงเคลื่อนตัวเข้าใกล้ผิวโลกก๊าซซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าลอยตัวอยู่เหนือหินหนืดและพยายามดันตัวเองผ่านเปลือกโลกออกมา หากปล่องของภูเขาไฟถูกปิดอยู่ก็จะเกิดก๊าซจำนวนมากสะสมอยู่บริเวณปากปล่อง

                  เมื่อมากพอก๊าซดังกล่าวก็จะดันจนชั้นหินที่ปิดอยู่นั้นแตกกระจาย กลายเป็นเศษหินชิ้นเล็กชิ้นน้อย พร้อมกับถูกดันขึ้นไปในอากาศพร้อมกับหินหนืด หลังจากนั้นก็จะไหลลงสู่พื้นโลก การดันตัวและไหลของหินหนืดหรือแมกมานี้อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งแบบการไหลที่มีลักษณะเคลื่อนตัวอย่างช้าๆหรือปะทุอย่างรุนแรงทำให้ฝุ่นละอองและเศษหินลอยครอบคลุมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก ความแตกต่างของการที่หินหนืดจะดันตัวออกมาในลักษณะของการระเบิดหรือไหลเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆนี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าส่วนประกอบของหินหนืดเป็นองค์ประกอบสำคัญในการที่ทำให้ภูเขาไฟระเบิดแต่ละครั้งมีลักษณะของความรุนแรงที่แตกต่างกันแบ่งเป็นกรณีดังนี้
1) หากหินหนืดประกอบไปด้วยเหล็กและแมกนีเซียมเป็นจำนวนมากก็จะมีความหนืดน้อยจึงทำไหลออกมาอย่างช้าๆ
2) หากหินหนืดประกอบด้วยซิลิกามาก ก็จะมีความหนืดมาก ดังนั้นเมื่อมีการปะทุขึ้นมันจึงระเบิดออกมา
3) หินหนืดที่มีก๊าซประปนอยู่มาก การปะทุในลักษณะนี้จะเป็นการระเบิดที่รุนแรง
 ดังนั้นเมื่อมีภูเขาไฟระเบิดขึ้นสิ่งที่ถูกดันผ่านชั้นเปลือกโลกออกมาก็จะมีทั้งสถานะ ของแข็ง ของเหลวและก๊าซ
 
การระเบิดของภูเขาไฟ
ภาพจาก http://www.geology.wisc.edu
                  ของแข็ง      จะพบในลักษณะของลาวาหลาก(lava flow) ที่จะไหลแผ่ไปเป็นรัศมีหลายร้อยกิโลเมตร มีขนาดตั้งแต่เป็นผงฝุ่นขนาดเล็กหรือมีขนาดใหญ่หนักหลายตันเมื่ออุณหภูมิลดลงก็จะกลายเป็นหินที่เรียกว่า ตะกอนภูเขาไฟ (pyroclastic) ส่วนที่ปลิวว่อนไปในอากาศเมื่อเย็นตัวลงจะเรียก เถ้าธุลีภูเขาไฟ (volcanic ash)  เป็นต้น
                 ของเหลว     ลาวาเป็นของเหลวที่พุ่งผ่านปล่องภูเขาไฟขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศลาวาจะมีลักษณะที่แตกต่างกันในการระเบิดแต่ละครั้ง เช่น ธาตุส่วนประกอบที่แตกต่างกันก่อให้เกิดการประทุของภูเขาไฟที่แตกต่างกันดั่งที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น และในลักษณะรูปร่างของภูเขาไฟที่แตกต่างกันก็มีผลโดยตรงมาจากคุณสมบัติและลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันของลาวาด้วยเช่นกัน
ก๊าซ  ที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดจะประกอบด้วย ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซต์ คลอรีน และก๊าซไข่เน่า เป็นต้น
 
lava flow
ภาพจาก http://www.swisseduc.ch/
                  ตั้งแต่อดีตและปัจจุบันมีการระเบิดของภูเขาไฟอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจพบว่าโลกของเรามีภูเขาไฟอยู่ประมาณ 1300 ลูก เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว 700 ลูก อีก 600 ลูกยังมีชีวิตอยู่ซึ่งอาจจะเกิดการประทุขึ้นได้ นักธรณีวิทยาประมาณกันว่า ในทุกๆปี จะมีภูเขาไฟประทุอยู่ราว 20-30  ลูก จากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ โลกเราเคยประสบภัยพิบัติเกี่ยวกับภูเขาไฟระเบิดมาแล้วหลายครั้ง ครั้งที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นการระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่ ก่อให้เกิดความเสียหายมากทั้งในแง่ทรัพย์สินและชีวิตของประชากรโลกมีดังนี้
ปี ค.ศชื่อภูเขาไฟ จำนวนผู้เสียชีวิต
97ภูเขาไฟวิสุเวียส-อิตาลี16,000
1169ภูเขาไฟเอ็ตนา เกาะชิชิลี-อิตาลี15,000
1631ภูเขาไฟวิสุเวียส-อิตาลี4,000
1669ภูเขาไฟเอ็ตนา เกาะชิชิลี-อิตาลี20,000
1772ภูเขาไฟปาปันดายัง-อินโดนีเซีย 3,000
1792ภูเขาไฟอุนเซ็นดาเกะ-ญี่ปุ่น 10,400
1815 ภูเขาไฟแทมโบร่า-อินโดนีเซีย12,000
26-28 ส.ค. 1883ภูเขาไฟกรากะตัว-อินโดนีเซีย 35,000
8 เม.ย. 1920ภูเขาไฟซานตามาเรีย-กัวเตมาลา 1,000
8 พ.ค. 1902ภูเขาไฟปิเล-เกาะมาร์ตินิก 10,000
1911ภูเขาไฟทาอาล-ฟิลิปปินส์1,400
1919ภูเขาไฟเคบัด-ชวา-อินโดนีเซีย5,000
18-21 ม.ค. 1951ภูเขาไฟแลมิงตัน-นิวกินี3,000
26 เม.ย. 1966 ภูเขาไฟเคบัด-ชวา-อินโดนีเซีย 1,000
 18 พ.ค. 1980 ภูเขาไฟเซ็นต์ เฮเลนส์-สหรัฐอเมริกา 60,000
 13 พ.ย. 1985  ภูเขาไฟเนวาโดเดลรูซ-โคลัมเบีย   22,940
 24  ส.ค. 1986  ภูเขาไฟในแคเมอรูน 1,700+
รวม 17 ประเทศ    ประมาณ 191,500  คน
* ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ภูเขาไฟในประเทศไทย
                  ในประเทศไทยมีภูเขาไฟอยู่ในทุกภูมิภาค ลักษณะของภูเขาไฟในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาไฟแบบโล่ (Shield Volcano) ซึ่งคุณสมบัติของลาวาจะไหลได้ง่ายดังนั้นหากมีการระเบิดขึ้นก็จะไม่รุนแรง ซ้ำภูเขาไฟในทุกภูมิภาคของไทยเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว
ภาคเหนือ   พบในเขตจังหวัด ลำปาง เชียงราย แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์
ภาคกลาง  พบในเขตจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์  สระบุรี และลพบุรี
ภาคตะวันออก พบในเขตจังหวัด ปราจีนบุรี  จันทบุรี นครนายก และตราด
ภาคตะวันตก พบในเขตจังหวัด กาญจนบุรีและจังหวัดตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบในเขตจังหวัด นครราชสีมา ศรีษะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ เลย และสุรินทร์
                  ภูเขาไฟที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ในเขตจังหวัดเลยโดยมีอายุราว 395-435 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งมีอายุมากกว่าปล่องภูเขาไฟที่พบในจังหวัดสุโขทัยและบุรีรัมย์ที่มีอายุเพียง 20 -30 ล้านปีเท่านั้นเอง
การเกิดระเบิดของภูเขาไฟใช่ว่าจะนำพามาแต่ความหายนะอย่างเดียว ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดก็ยังมีอยู่เช่นกัน  การระเบิดของภูเขาไฟถือเป็นการปรับสภาพของเปลือกโลกให้มีความสมดุลยิ่งขึ้น  ฝุ่นที่ละอองซึ่งเกิดจากแรงระเบิดของภูเขาไฟจะฟุ้งกระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศสตาโตสเฟียร์ทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลงจากสภาวะเรือนกระจก นอกจากนี้ดินที่เกิดจากแหล่งภูเขาไฟจะเต็มไปด้วยแร่ธาตุซึ่งเหมาะสำหรับทำการเกษตร ทั้งยังทำให้เกิดแหล่งแร่ที่สำคัญเช่น เพชร เหล็ก เป็นต้น
                  แม้ภัยธรรมชาติจากภูเขาไฟระเบิดแทบจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นกับเมืองไทยในยุคปัจจุบัน แต่สิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติก่อเกิดเป็นภัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์  ธรรมชาติมีสิ่งที่ให้เราเรียนรู้และทำความเข้าใจอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าจากภายใต้โลกใบโต นำความรับรู้ใหม่ๆมาให้เราได้ทำความเข้าใจว่าธรรมชาติเปลี่ยนแปลงเกิดจากอะไร  ซึ่งมีน่าสนใจพอๆกับตำนานที่เล่าขานกันว่ามีสัตว์ขนาดมหึมานอนหนุนโลกอยู่ตามความรับรู้เดิมๆของมนุษย์เรา  นี้อาจจะเป็นเสน่ห์ของการเรียนรู้จากธรรมชาติเพื่อความเข้าใจอย่างเท่าทันและอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล...แหละนี้คือเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์