วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ

เทคโนโลยีสารสนเทศ

เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) คือ การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสารสนเทศ ทำให้สารสนเทศมีประโยชน์ และใช้งานได้กว้างขวางมากขึ้น เทคโนโลยีสารสนเทศรวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่จะรวบรวม จัดเก็บ ใช้งาน ส่งต่อ หรือสื่อสารระหว่างกัน ในระบบสารสนเทศนั้นประกอบด้วย 5 ส่วนหลักๆ ได้แก่ บุคลากร ขั้นตอนการทำงาน ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และข้อมูล ปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของประชาชน ทั้งด้านการติดต่อสื่อสาร การเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ การดำเนินธุรกิจ และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน
เทคโนโลยีสารสนเทศคืออะไร
เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) มาจากคำว่า “เทคโนโลยี” รวมกับคำว่า “สารสนเทศ” “เทคโนโลยี” หมายถึง สิ่งที่มนุษย์พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ เข่น อุปกรณ์   เครื่องมือ เครื่องจักรวัสดุ หรือ แม้กระทั่งสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ระบบหรือกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น  “สารสนเทศ” หมายถึง ข้อมูล ข้อเท็จจริง ข่าวสาร ความรู้ ที่ได้มีการบันทึก ประมวลหรือดำเนินการด้วยวิธีใดๆไว้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์และเผยแพร่ทั้งส่วนบุคคลและสังคม  ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสารสนเทศ ทำให้สารสนเทศมีประโยชน์ และใช้งานได้กว้างขวางมากขึ้น เทคโนโลยีสารสนเทศรวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่จะรวบรวม จัดเก็บ ใช้งาน ส่งต่อ หรือสื่อสารระหว่างกัน เทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวข้องโดยตรงกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการจัดการ สารสนเทศ ซึ่งได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์รอบข้าง ขั้นตอน วิธีการดำเนินการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ เกี่ยวข้องกับตัวข้อมูล เกี่ยวข้องกับบุคลากร เกี่ยวข้องกับกรรมวิธีการดำเนินงานเพื่อให้ข้อมูลเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้แล้วยังรวมไปถึง โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์ โทรสาร หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ ฯลฯ
องค์ประกอบของระบบสารสนเทศ
ในระบบสารสนเทศนั้นประกอบด้วย 5 ส่วนหลักๆ ได้แก่ บุคลากร ขั้นตอนการทำงาน ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และข้อมูล
1) บุคลากร เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เพราะบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และเข้าใจวิธีการในการดำเนินการ และจัดการเกี่ยวกับสารสนเทศทั้งหมด บุคลากรจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
2) ขั้นตอนการปฏิบัติ หมายถึง ระเบียบวิธีการปฏิบัติงานในการจัดเก็บรักษาข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่จะทำให้เป็นสารสนเทศได้ เช่น การกำหนดให้มีการป้อนข้อมูลทุกวัน การปรับปรุงแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องอยู่เสมอ
3) เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือฮาร์ดแวร์ เป็นอุปกรณ์ที่ประมวลผลข้อมูลเพื่อสร้างข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งประกอบด้วยคีย์บอร์ด เมาส์ จอภาพ หน่วยระบบ และอุปกรณ์อื่นๆ เครื่องคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์
จะถูกควบคุมโดยซอฟต์แวร์
เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการสารสนเทศ 
4) ซอฟต์แวร์ หรือโปรแกรมในระบบคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วยซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) และซอฟท์แวร์แอพพลิเคชั่น (Application Software) เป็นชุดคำสั่งที่เรียงเป็นลำดับขั้นตอน
มีหน้าที่สั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานตามวัตถุประสงค์ และประมวลผลเพื่อให้ได้สารสนเทศที่ต้องการ
5) ข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบุคคล วัตถุหรือสถานที่ ข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะใช้เป็นเครื่องช่วยในการวางแผนงานการบริหารจัดการ ดังนั้นข้อมูลจะต้องมีความถูกต้อง มีความเที่ยงตรง สามารถเชื่อถือได้ มีความเป็นปัจจุบัน สามารถตรวจสอบได้ และมีความสมบูรณ์ชัดเจน 
บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้การกระจายข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว และยังสื่อสารแบบสองทิศทาง ด้วยเหตุนี้ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมจึงแตกต่างจากในอดีตมาก ดังจะเห็นได้จากวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจจากประเทศหนึ่งมีผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ผลของความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายด้าน อาทิเช่น

- การเปลี่ยนเป็นสังคมสารสนเทศ  ปัจจุบันสังคมโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสารสนเทศ โดยคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารมีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การซื้อสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ต การทำงานผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ รวมถึงก่อให้เกิดสังคมออนไลน์ทั้งเว็บบล็อก (Web Blog) เว็บไซต์วีดิโอออนไลน์ เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์ค เป็นต้น
- การทำงานที่ไร้เงื่อนไขของเวลาและสถานที่  เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดสภาพทางการทำงานแบบทุกสถานที่และทุกเวลา โดยการโต้ตอบผ่านระบบเครือข่าย ทำให้ขยายขอบเขตการทำงานไปทุกหนทุกแห่งและดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- ระบบเศรษฐกิจเชื่อมโยงทั่วโลก  เทคโนโลยีสารสนเทศส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจซึ่งเปลี่ยนจากระบบแห่งชาติไปเป็นเศรษฐกิจโลก เทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนเอื้ออำนวยให้การดำเนินการมีขอบเขตกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ระบบเศรษฐกิจของโลกจึงผูกพันกับทุกประเทศและเชื่อมโยงกันแนบแน่นขึ้น
           -   
เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้งานใหม่ๆ เช่น ระบบระบุพิกัดบนพื้นโลก (Global Positioning System, GPS) ซึ่งสามารถกำหนดพิกัดของสถานที่ต่าง ๆ การสำรวจ การเดินทาง และใช้เป็นระบบติดตามรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้กับการสืบค้นข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมทางอินเทอร์เน็ต เช่น โปรแกรม Google Earth 

วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

พายุหมุนเขตร้อน กับวิธีการป้องกันตัว

พายุหมุนเขตร้อน กับวิธีการป้องกันตัว



เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม

          ช่วงนี้หลายคนคงรู้สึกว่าได้ยินคำว่า "พายุ" อยู่บ่อยๆ ทั้งจากโทรทัศน์, วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ แถมประจวบกับที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่าโดน "นาร์กีส" หรือ "พายุไซโคลน" ถล่มซะจนสร้างความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ จนทำให้หลายๆ คนอยากรู้จักกับพายุมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้รู้จักและหาป้องกันตัวเองได้ ดังนั้น เราจะพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับพายุให้มากขึ้น โดยเฉพาะ "พายุหมุนเขตร้อน" ที่มักเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยหรือเพื่อนบ้านรอบๆ


พายุคืออะไร.. ?

          
พายุ คือ สภาพบรรยากาศที่ถูกรบกวนแบบใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อพื้นผิวโลก และบ่งบอกถึงสภาพอากาศที่รุนแรง เวลากล่าวถึงความรุนแรงของพายุ จะมีเนื้อหาสำคัญอยู่บางประการคือ ความเร็วที่ศูนย์กลาง ซึ่งอาจสูงถึง 400 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วของการเคลื่อนตัว ทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุ และขนาดความกว้างหรือเส้นผ่าศูนย์กลางของตัวพายุ ซึ่งบอกถึงอาณาบริเวณที่จะได้รับความเสียหายว่าครอบคลุมเท่าใด ความรุนแรงของพายุจะมีหน่วยวัดความรุนแรงคล้ายหน่วยริกเตอร์ของการวัดความรุนแรงแผ่นดินไหว มักจะมีความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

พายุแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 3 ประเภท คือ

         พายุฝนฟ้าคะนอง มีลักษณะเป็นลมพัดย้อนไปมา หรือพัดเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน อาจเกิดจากพายุที่อ่อนตัวและลดความรุนแรงของลมลง หรือเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องความกดอากาศต่ำ อาจไม่มีทิศทางที่แน่นอน หากสภาพการณ์แวดล้อมต่างๆ ของการเกิดฝนเหมาะสม ก็จะเกิดฝนตก มีลมพัด

          พายุหมุนเขตร้อน (Tropical cyclone) ต่างๆ เช่น เฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น และไซโคลน ซึ่งล้วนเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน และจะเกิดขึ้นหรือเริ่มต้นก่อตัวในทะเล หากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตร จะมีทิศทางการหมุนทวนเข็มนาฬิกา และหากเกิดใต้เส้นศูนย์สูตรจะหมุนตามเข็มนาฬิกา โดยมีชื่อต่างกันตามสถานที่เกิด กล่าวคือ

          1. พายุเฮอร์ริเคน (hurricane) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดบริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น บริเวณฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน เป็นต้น รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก

          2. พายุไต้ฝุ่น (typhoon) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย ประเทศญี่ปุ่น แต่ถ้าเกิดในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เรียกว่า บาเกียว (Baguio)

          3. พายุไซโคลน (cyclone) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดในมหาสมุทรอินเดีย เหนือ เช่น บริเวณอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ เป็นต้น แต่ถ้าพายุนี้เกิดบริเวณทะเลติมอร์และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย จะเรียกว่า พายุวิลลี-วิลลี (willy-willy)

          4. พายุโซนร้อน (tropical storm) เกิดขึ้นเมื่อพายุเขตร้อนขนาดใหญ่อ่อนกำลังลง ขณะเคลื่อนตัวในทะเล และความเร็วที่จุดศูนย์กลางลดลงเมื่อเคลื่อนเข้าหาฝั่ง 

          5. พายุดีเปรสชัน (depression) เกิดขึ้นเมื่อความเร็วลดลงจากพายุโซนร้อน ซึ่งก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองธรรมดาหรือฝนตกหนัก

          6. พายุทอร์นาโด (tornado) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดในทวีปอเมริกา มีขนาดเนื้อที่เล็กหรือเส้นผ่าศูนย์กลางน้อย แต่หมุนด้วยความเร็วสูง หรือความเร็วที่จุดศูนย์กลางสูงมากกว่าพายุหมุนอื่น ๆ ก่อความเสียหายได้รุนแรงในบริเวณที่พัดผ่าน เกิดได้ทั้งบนบก และในทะเล หากเกิดในทะเล จะเรียกว่า นาคเล่นน้ำ (water spout) บางครั้งอาจเกิดจากกลุ่มเมฆบนท้องฟ้า แต่หมุนตัวยื่นลงมาจากท้องฟ้าไม่ถึงพื้นดิน มีรูปร่างเหมือนงวงช้าง จึงเรียกกันว่า ลมงวง


ถิ่นกำเนิดหรือบริเวณที่เกิดพายุหมุนเขตร้อน

          
พายุหมุนเขตร้อนเป็นคำทั่วๆ ไปที่ใช้สำหรับเรียกพายุหมุนหรือพายุไซโคลน (Cyclone) ที่มีถิ่นกำเนิดเหนือมหาสมุทรในเขตร้อนแถบละติจูดต่ำ แต่อยู่นอกเขตบริเวณเส้นศูนย์สูตร เพราะยังไม่เคยปรากฏว่ามีพายุหมุนเขตร้อนเกิดที่เส้นศูนย์สูตร พายุนี้เกิดขึ้นในมหาสมุทรหรือทะเลที่มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 26 องศาเซลเซียส หรือ 27 องศาเซลเซียส ขึ้นไป และมีปริมาณไอน้ำสูง เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักเคลื่อนตัวตามกระแสลมส่วนใหญ่จากทิศตะวันออกมาทางทิศตะวันตก และค่อยโค้งขึ้นไปทางละติจูดสูง แล้วเวียนโค้งกลับไปทางทิศตะวันออกอีก พายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นได้หลายแห่งในโลก และมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด

          พายุหมุนเขตร้อนเมื่ออยู่ในสภาวะที่เจริญเติบโตเต็มที่ จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไปและเกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดแรงมาก ระบบการหมุนเวียนของลมเป็นไป โดยพัดเวียนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุในซีกโลกเหนือ ส่วนในซีกโลกใต้พัดเวียนตามเข็มนาฬิกา ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุด

          ความเร็วลมสูงสุดที่บริเวณใกล้ศูนย์กลางนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความรุนแรงของพายุ ซึ่งในย่านมหาสมุทรแปซิ-ฟิกเหนือด้านตะวันตก และทะเลจีนใต้มีการแบ่งตามข้อตกลงระหว่างประเทศดังนี้ 

          - พายุดีเปรสชันเขตร้อน (tropical depression) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กิโลเมตร/ชั่วโมง)

          - พายุโซนร้อน (tropical storm) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต (63 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กิโลเมตร/ชั่วโมง) 

          - ไต้ฝุ่น (typhoon) ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต (118 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ขึ้นไป

          สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบจาก "พายุหมุนเขตร้อน" ที่ก่อตัวในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก และพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเราเรียกว่า "ไซโคลน" แม้พายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในบริเวณมหาสมุทรอินเดียจะไม่เข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง แต่ก็สามารถก่อความเสียหายต่อประเทศไทยได้เช่นกัน เมื่อทิศการเคลื่อนที่เข้าสู่บริเวณใกล้ประเทศไทยทางด้านตะวันตก ในกรณีของพายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้นั้น จะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทยในบริเวณต่างๆ ของประเทศแตกต่างกันตามฤดูกาล

          พายุหมุนเขตร้อน หรือ พายุไซโคลน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่สามารถทำความเสียหายได้รุนแรง จะต้องมีความเร็วลมมากกว่า 64 นอต (30 เมตร/วินาที, 74 ไมล์/ชั่วโมง หรือ 118 กิโลเมตร/ ชั่วโมง) ขึ้นไป และมักจะมี "ตาพายุ" ศูนย์กลางหรือที่เรียกว่า "ตา" เป็นบริเวณที่มีลมสงบ อากาศโปร่งใส โดยอาจมีเมฆและฝนบ้างเล็กน้อย ล้อมรอบด้วยพื้นที่บริเวณกว้างรัศมีหลายร้อยกิโลเมตร ตาพายุนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายดาวเทียมเป็นวงกลมเล็กที่ไม่มีเมฆ รอบตาจะมีกำแพงล้อมที่มีขนาดกว้างประมาณ 16-80 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีพายุฝนและลมหมุนที่รุนแรงมากหมุนวนรอบๆ ตา 

          ดังนั้น ในบริเวณที่พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่ผ่าน ครั้งแรกจะปรากฏลักษณะอากาศโปร่งใส เมื่อด้านหน้าของพายุหมุนเขตร้อนมาถึงจะปรากฏลมแรง ฝนตกหนัก และมีพายุฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจปรากฏพายุทอร์นาโด ในขณะตาพายุมาถึง อากาศจะโปร่งใสอีกครั้ง และเมื่อด้านหลังของพายุหมุนมาถึงอากาศจะเลวร้ายลงอีกครั้งและรุนแรงกว่าครั้งแรกซึ่งการเคลื่อนตัวของเมฆรอบศูนย์กลางพายุก่อตัวเป็นรูปขดวงก้นหอยที่เด่นชัด แถบหรือวงแขที่อาจยื่นโค้งเป็นระยะที่ยาวออกไปได้มากในขณะที่เมฆถูกดึงเข้าสู่วงหมุน ทิศทางวงหมุนของพายุขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดว่าอยู่ ณ ส่วนใดของซีกโลกดังกล่าวแล้ว 

          หากอยู่ซีกโลกเหนือพายุจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา ด้านซีกโลกใต้จะหมุนตามเข็มนาฬิกา ความเร็วสูงสุดของพายุหมุนเขตร้อนที่เคยวัดได้มีความเร็วมากกว่า 85 เมตร/วินาที (165 นอต, 190 ไมล์/ชั่วโมง, 305 กิโลเมตร/ชั่วโมง) พายุที่รุนแรงมากและอยู่ในระยะก่อตัวช่วงสูงสุดบางครั้งอาจมีรูปร่างของโค้งด้านในแลดูเหมือนอัฒจรรย์สนามแข่งขันฟุตปอลได้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบางครั้งในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า "ปรากฏการณ์อัฒจรรย์" (stadium effect)

          วงหมุนที่เกิดผนังตาพายุจะเกิดตามปกติเมื่อพายุมีความรุนแรงมาก เมื่อพายุแรงถึงขีดสุดก็มักจะเกิดการหดตัว ของรัศมีกำแพงตาพายุเล็กลงถึงประมาณ 8-24 กิโลเมตร (5-15 ไมล์) ซึ่งบางครั้งอาจไม่เกิด ถึงจุดนี้เมฆฝนอาจก่อตัวเป็นแถบอยู่ด้านนอกแล้วค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้าวงในแย่งเอาความชื้นและแรงผลักดันหรือโมเมนตัมจากผนังตาพายุ ทำให้ความรุนแรงลดลงบ้าง (ความเร็วสูงสุดที่ผนังลดลงเล็กน้อยและความกดอากาศสูงขึ้น) ในที่สุดผนังตาพายุด้านนอกก็จะเข้ามาแทนผนังในจนหมด ทำให้พายุกลับมามีความเร็วเท่าเดิม 

          แต่ในบางกรณีอาจกลับเร็วขึ้นได้ แม้พายุหมุนจะอ่อนตัวลงที่ปลายผนังตาที่ถูกแทนที่ แต่ที่จริงแล้วการเพิ่งผ่านปรากฏการณ์ลักษณะนี้ในรอบแรกและชะลอการเกิดในรอบต่อไป เป็นการเปิดโอกาสให้ความรุนแรงสะสมตัวเพิ่มขึ้นอีกได้ถ้ามีสภาวะที่เหมาะสม ซึ่งระดับความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อนที่มีความเร็วลมเกิน 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่

          - ระดับที่ 1 มีความเร็วลม 119-153 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายล้างเล็กน้อย ไม่ส่งผลต่อสิ่งปลูกสร้าง มีน้ำท่วมขังตามชายฝั่ง  

          - ระดับที่ 2 มีความเร็วลม 154-177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายล้างเล็กน้อย ทำให้หลังคา ประตู หน้าต่างบ้านเรือนเสียหายบ้าง ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง  

          - ระดับที่ 3 มีความเร็วลม 178-209 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายล้างปานกลาง ทำลายโครงสร้างที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก น้ำท่วมขังถึงพื้นบ้านชั้นล่าง 

          - ระดับที่ 4 มีความเร็วลม 210-249 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายล้างสูง หลังคาบ้านเรือนบ้านเรือนบางแห่งถูกทำลาย น้ำท่วมเข้ามาถึงพื้นบ้าน  

          - ระดับที่ 5 มีความเร็วลมมากกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะทำลายล้างสูงมาก หลังคาบ้านเรือน ตึกและอาคารต่างๆ ถูกทำลาย พังทลาย น้ำท่วมขังปริมาณมาก ถึงขั้นทำลายทรัพย์สินในบ้าน อาจต้องประกาศอพยพประชาชน 

          ขณะเดียวกันพายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก และมีความแรงของลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุมากกว่า 33 นอต จะเริ่มมีการกำหนดชื่อเรียก โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้จัดรายชื่อเพื่อเรียกพายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกไว้เป็นสากล เพื่อทุกประเทศในบริเวณนี้ใช้เพื่อเรียกพายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวขึ้น โดยเรียงตามลำดับให้เหมือนกัน

          ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา ได้เกิดระบบการตั้งชื่อพายุเป็นภาษาพื้นเมืองของแต่ละประเทศสมาชิกในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนบนและแถบทะเลจีนใต้ 14 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย ไมโครนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และไทย โดยนำชื่อมาเรียงเป็น 5 สดมภ์ เริ่มจากกัมพูชาจนถึงเวียดนามในสดมภ์ที่ 1 เมื่อหมดแล้วให้เริ่มขึ้นสดมภ์ที่ 2 ถึง 5 แล้วจึงเวียนมาเริ่มที่สดมภ์ 1 อีกครั้ง จนกว่าจะมีการกำหนดชื่อพายุครั้งใหม่อีก

อันตรายของพายุ

1. ความรุนแรงและอันตรายอันเกิดจากพายุไต้ฝุ่น


          เมื่อพายุที่มีกำลังขนาดไต้ฝุ่น พัดผ่านที่ใดย่อมทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงทั่วไป เช่น บนบกต้นไม้จะล้ม ถอนราก ถอนโคน จะทำให้เกิดอันตรายจากต้นไม้ล้มทับบ้านเรือน บ้านเรือนพังทับผู้คนในบ้านและใกล้เคียงบาดเจ็บหรือตาย เรือกสวนไร่นาเสียหายหนักมาก เสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าขาด ไฟฟ้าช็อต เกิดเพลิงไหม้และผู้คนอาจเสียชีวิตจากไฟฟ้าดูดได้ ผู้คนที่มีอาคารพักอาศัยอยู่ริมทะเลอาจถูกน้ำพัดพาลงทะเลจมน้ำตายได้ ดังเช่น ปรากฏการณ์ที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช

          ในทะเลลมแรงจัดมาก คลื่นใหญ่ เรือขนาดใหญ่ๆ ขนาดหมื่นตันอาจจะถูกพัดพาไปเกยฝั่งล่มจมได้ บรรดาเรือเล็กเป็นอันตรายล่มจมสิ้น ไม่สามารถจะต้านความรุนแรงของพายุได้ คลื่นใหญ่ซัดขึ้นริมฝั่งจนทำให้ระดับน้ำขึ้นสูงมากจนท่วมอาคารบ้านช่องริมทะเลได้ บรรดาโป๊ะจับปลาในทะเลถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงโดยคลื่นและลม

2. ความรุนแรงและอันตรายจากพายุโซนร้อน
          พายุโซนร้อนมีความรุนแรงน้อยกว่าพายุไต้ฝุ่น ฉะนั้น อันตรายอันจะเกิดจากการที่พายุนี้พัดมาปะทะลดลงในระดับรองลงมาจากพายุไต้ฝุ่น แต่ถึงกระนั้นก็ตามความรุนแรงที่จะทำให้ความเสียหายก็ยังมีมากเหมือนกัน ในทะเลลมจะแรงมากจนสามารถจะจมเรือขนาดใหญ่ๆ ได้ ต้นไม้ถอนรากถอนโคนดังพายุโซนร้อนที่ปะทะฝั่งแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช 

          ถ้าการเตรียมการรับสถานการณ์ไม่เพียงพอ ไม่มีการประกาศโฆษณาให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงภัยอันตรายอย่างทั่วถึง ไม่มีวิธีการดำเนินการที่เข้มแข็งในการอพยพ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ ในระหว่างเกิดพายุ การสูญเสียก็ย่อมมีการเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สมบัติของประชาชน

3. ความรุนแรงและอันตรายจากพายุดีเปรสชั่น
          พายุดีเปรสชั่นเป็นพายุที่มีกำลังอ่อน ไม่มีอันตรายรุนแรงแต่ทำให้มีฝนตกปานกลางทั่วไป ตลอดทางที่พายุดีเปรสชั่นผ่านไป และมีฝนตกหนักเป็นแห่งๆ พร้อมด้วยลมกรรโชกแรงเป็นครั้งคราว ซึ่งบางคราวจะรุนแรงจนทำให้เกิดความเสียหายได้บ้าง ไม่ปลอดภัยเสียทีเดียว ในทะเลค่อนข้างแรงและคลื่นจัด บรรดาเรือประมงเล็กขนาดต่ำกว่า 50 ตัน ควรงดเว้นออกทะเลเพราะอาจจะล่มลงได้ 

          และพายุดีเปรสชั่นนี้เมื่ออยู่ในทะเลได้รับไอน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา และไม่มีสิ่งกีดขวางทางลมอาจจะทวีกำลังขึ้นได้โดยฉับพลัน ฉะนั้น เมื่อได้รับทราบข่าวว่ามีพายุดีเปรสชั่นขึ้นในทะเลก็อย่าได้ไว้วางใจว่าจะมีกำลังอ่อนเสมอไปอาจจะมีอันตรายได้เหมือนกัน สำหรับพายุพัดจัดจะลดน้อยลงเป็นลำดับ มีแต่ฝนตกทั่วไปเป็นระยะนานๆ และตกได้มากถึง 100 มิลลิเมตร ภายใน 12 ชั่วโมงซึ่งต่อไปก็จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลบ่าจากภูเขาและป่าใกล้เคียงลงมาท่วมบ้านเรือนได้ในระยะเวลาสั้นๆ หลังจากภายุได้ผ่านไปแล้ว

4. ความรุนแรงและอันตรายจากพายุฤดูร้อน
          พายุฤดูร้อนเป็นพายุที่เกิดขึ้นโดยเหตุและวิธีการต่างกับพายุดีเปรสชั่น และเกิดบนผืนแผ่นดินที่ร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนแต่เป็นพายุที่มีบริเวณย่อมๆ มีอาณาเขตเพียง 20-30 ตารางกิโลเมตร แต่อาจมีลมแรงมากถึง 47 น็อต หรือ 87 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้มีกำลังแรงที่จะทำให้เกิดความเสียหายได้มากเหมือนกันแต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 2-3 ชั่วโมง อันตรายที่เกิดขึ้นคือ ต้นไม้หักล้มทับบ้านเรือนผู้คน บ้านเรือนที่ทนกำลังแรงลมไม่ไหวพังทะลายกระเบื้องหลังคาปลิวเป็นอันตรายต่อผู้คน ฝนตกหนักและอาจมีลูกเห็บตกได้ ในกรณีที่พายุมีกำลังแรงลูกเห็บอาจจะตกถูกผู้คนได้รับความบาดเจ็บและบ้านช่องเสียหายได้

การเตรียมการป้องกันอันตรายจากพายุ
          1. ติดตามสภาวะอากาศ ฟังคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาสม่ำเสมอ

          2. สอบถาม แจ้งสภาวะอากาศร้ายแก่กรมอุตุนิยมวิทยา

          3. ปลูกสร้าง ซ่อมแซม อาคารให้แข็งแรง เตรียมป้องกันภัยให้สัตว์เลี้ยงและพืชผลการเกษตร 

          4. ฝึกซ้อมการป้องกันภัยพิบัติ เตรียมพร้อมรับมือ และวางแผนอพยพหากจำเป็น 

          5. เตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค ไฟฉาย แบตเตอรี่ วิทยุกระเป๋าหิ้วติดตามข่าวสาร 

          6. เตรียมพร้อมอพยพเมื่อได้รับแจ้งให้อพยพ 

การสร้างเกม RPG Maker XPสำหรับเด็ก

การสร้างเกมสำหรับเด็ก บทเรียนที่ 1 เริ่มต้นสร้างเกม RPG Maker XP

RPG-Maker คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรและเริ่มต้นสร้างอย่างไร
คำชี้แจง         บล็อกการสอนเทคนิคการสร้างเกมสำหรับเด็กนี้ มุ่งเน้นแนะนำวิธีการสร้างเกมการศึกษาด้วยโปรแกรม RPG-Maker XP ศึกษาเรียบเรียงโดยอาจารย์พงศ์ปณต ผ่องพันธุ์งาม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรม (programming skill) สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนจิตรลดาเท่านั้น ซึ่งเริมมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 จนถึงปีการศึกษาปัจจุบัน มิได้มีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจการค้าใดๆ ทั้งสิ้น
         ขอขอบพระคุณผู้สร้างโปรแกรม RPG-MakerXP หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมนี้ แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่เคยรู้จัก (ทราบว่าเป็นคนญี่ปุ่น) แต่ขอประกาศต่อสาธารณะว่า โปรแกรมของท่านมีประโยชน์ต่อนักเรียนของเราเป็นอย่างยิ่ง
         สำหรับผู้สนใจ ข้าพเจ้ายินดีแบ่งปันความรู้เท่าที่ตัวเองมี เพื่อส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ในประเทศไทยของเรา หากมีข้อผิดพลาดก็ขออภัยและโปรดให้คำแนะนำติชมที่ด้านล่างของบล็อกจักเป็นพระคุณยิ่ง เพื่อข้าพเจ้าจะได้พัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
         
ขอขอบคุณ
         อ.พงศ์ปณต

เกริ่นนำ
RPG maker หรือ RPG School เป็นโปรแกรมสำหรับช่วยในการสร้างเกมในรูปแบบของ RPG ที่ง่ายที่สุด เนื่องจากส่วนติดต่อผู้ใช้ การกำหนดค่าต่างๆ การเขียนสคริปต์ ถูกกำหนดมาให้สามารถเข้าใจได้ง่ายและไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ในการเขียนโปรแกรมแต่อย่างใด เพียงแต่มีพื้นฐานการสร้างภาพกราฟิคบวกกับจินตนาการก็สามารถสร้างเกม RPG ได้แล้ว และถ้าทำความเข้าใจกับระบบต่างๆ ของตัวโปรแกรมให้ละเอียด เรายังสามารถสร้างสรรค์เกมแนวอื่นๆ นอกจากเกม RPG อีกด้วย
 จุดประสงค์ทั่วไป
เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น ซึ่งการเขียนโปรแกรมนั้นถือเป็นทักษะสูงสุดของการใช้คอมพิวเตอร์ ทำให้เปลี่ยนสถานะของนักเรียนจากผู้ใช้ (User) มาเป็นผู้สร้าง (Builder) หรือมีคำเรียกเฉพาะในทางคอมพิวเตอร์ว่านักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Computer Programmer) สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 นี้ จะเป็นการฝึกการเขียนโปรแกรมที่ไม่สลับซับซ้อนมาก อีกทั้งให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลินและตอบสนองต่อความต้องการการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัยของเด็กนักเรียนประถมปีที่ 4 เป็นอย่างมาก ด้วยการสร้างเกม RPG ด้วยตนเอง

• เนื้อหา

ตัวโปรแกรมประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้
(1) เมื่อติดตั้งโปรแกรมและเข้าสร้างเกมครั้งแรก เลือกคำสั่ง โปรเจ๊ค- สร้างโปรเจ็คใหม่ ดังรูป
 
(2)  โปรแกรมจะให้เรากำหนดชื่อของโปรเจ็ค และชื่อเกม ให้เปลี่ยนเป็นชื่อที่เราต้องการ ทั้งสองช่องเติมข้อความ มีข้อแนะนำคือควรตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษจะสะดวกและง่ายต่อการค้นหาเกมภายหลัง
 
 (3) เมื่อกดตกลง โปรแกรมจะเข้าสู่การสร้างเกมโดยปรากฏหน้าจอดังรูป
 
(4) ปุ่มคำสั่งที่สำคัญคือ เลเยอร์ของการสร้างฉากที่แบ่งออกเป็น ชั้นล่าง ชั้นกลาง ชั้นบนและชั้นเหตุการณ์
ซึ่งต้องใช้ในการผสมกันเวลาสร้างรวมกันทั้ง 3 เลเยอร์ ดังภาพตัวอย่างนี้
(5) ภาพตัวอย่างของการสร้างฉากที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว
 
 (6) ขั้นต่อมาคือการทดสอบเกมว่า เล่นได้จริงหรือไม่ ให้กดที่ปุ่ม ทดสอบเกม หรือกดปุ่ม F12 โปรแกรมจะแสดงกรอบข้อความชี้แจงว่าโปรเจ็คมีการแก้ไข (เราสร้างไว้ทั้งหมด) ต้องการที่จะบันทึกหรือไม่ ในที่นี้ให้ตอบ Yes ทุกครั้ง
 

(7) เสร็จแล้วโปรแกรมจะแสดงหน้าจอเริ่มเกมดังภาพตัวอย่างถัดไป ให้กดเลือก New Game ด้วยการกดปุ่ม Enter ที่แป้นพิมพ์
 
 (8) ภาพแสดงฉากการเริ่มเกม ประกอบด้วยฉากและตัวละคร ฮีโร่
  

 (โปรดศึกษาเนื้อหาในบทเรียนที่ 2 ต่อไป)

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว


บทความน่ารู้ : เรื่องสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว
ที่นี่คือศูนย์รวมบทความที่น่าสนใจและให้ความรู้จากทุกมุมโลก เพื่อเป็นแหล่งความรู้สำหรับคนไทยทุกคน


มารู้จักแผ่นดินไหวกันเถอะ
        แผ่นดินไหว เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิต และทรัพย์สินของมนุษย์ได้เป็นบริเวณกว้าง เชื่อกันว่าทุกประเทศได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ปัจจุบันพบว่ามีความพยายามอย่างมากในหลายประเทศ ซึ่งได้รับอันตรายจากแผ่นดินไหว ศึกษา และทำความเข้าใจถึงกลไกของการเกิดแผ่นดินไหว เพื่อการพยากรณ์แผ่นดินไหว และทำนายเหตุการณ์ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด? ที่ไหน? ขนาดเท่าใด? แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ขณะนี้จึงยังไม่มีผู้ใดสามารถ พยากรณ์แผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้อง โดยทั่วไปสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเผชิญภัยแผ่นดินไหว คือการเตรียมพร้อมที่ดี แต่ละประเทศควรมีมาตรการในการป้องกัน และบรรเทาภัยแผ่นดินไหวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับธรรมชาติของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว รอยเลื่อนต่าง ๆ ให้ความรู้ และข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหวต่อประชาชน ให้มีการแบ่งเขตแผ่นดินไหวตามความเหมาะสมของความเสี่ยงภัย ออกกฎหมายให้อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ สามารถรับแรงแผ่นดินไหวตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่เสี่ยงภัย มีการวางแผนการจัดการที่ดี หากเกิดความเสียหายร้ายแรงหลังการเกิดแผ่นดินไหว เป็นต้น ในกรณีของประเทศไทย แม้ว่าตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิประเทศจะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวต่ำ แต่เพื่อความไม่ประมาท กรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมมาตรการข้างต้นโดยมีภารกิจในการตรวจวัดแผ่นดินไหวตลอด 24 ชั่วโมง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศเป็นประจำ ตลอดจนวางแผนจัดตั้งโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสาธารณชนได้
        แผ่นดินไหว เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ เกิดจากการเคลื่อนตัวโดยฉับพลันของเปลือกโลก ส่วนใหญ่ แผ่นดินไหวมักเกิดตรงบริเวณขอบ ของแผ่นเปลือกโลกเป็นแนวแผ่นดินไหวของโลก การเคลื่อนตัวดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากชั้นหินหลอมละลาย ที่อยู่ภายใต้เปลือกโลก ได้รับพลังงานความร้อนจากแกนโลก และลอยตัวผลักดันให้เปลือกโลกตอนบนตลอดเวลา ทำให้เปลือกโลกแต่ละชิ้นมีการเคลื่อนที่ในทิศทางต่าง ๆ กันพร้อมกับสะสมพลังงานไว้ภายใน บริเวณขอบของชิ้นเปลือกโลกจึงเป็นส่วนที่ชนกันเสียดสีกัน หรือแยกจากกัน หากบริเวณขอบของชิ้นเปลือกโลกใด ๆ ไม่ผ่านหรืออยู่ใกล้กับประเทศใดประเทศนั้น ก็จะมีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหวสูง
เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น นอกจากนั้นพลังที่สะสมในเปลือกโลก ถูกส่งผ่านไปยังเปลือกโลกพื้นของทวีป ตรงบริเวณรอยร้าวของหินใต้พื้นโลกหรือที่เรียกว่า "รอยเลื่อน" เมื่อระนาบ รอยร้าวที่ประกบกันอยู่ได้รับแรงอัดมาก ๆ ก็จะทำ ให้รอยเลื่อนมีการเคลื่อนตัวอย่างฉับพลันเกิดเป็น แผ่นดินไหวเช่นเดียวกัน
       แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก (แนวระหว่างรอยต่อธรณีภาค)ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของชั้นหินขนาดใหญ่เลื่อน เคลื่อนที่ หรือแตกหัก และเกิดการโอนถ่ายพลังงานศักย์ผ่านในชั้นหินที่อยู่ติดกัน พลังงานศักย์นี้อยู่ในรูปคลื่นไหวสะเทือน จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว (focus) มักเกิดตามรอยเลื่อน อยู่ในระดับความลึกต่างๆของผิวโลก เท่าที่เคยวัดได้ลึกสุดอยู่ในชั้นแมนเทิลส่วนจุดที่อยู่ในระดับสูงกว่า ณ. ตำแหน่งผิวโลก เรียกว่า "จุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว" (epicenter)การสั่นสะเทือนหรือแผ่นดินไหวนี้จะถูกบันทึกด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ไซส์โมกราฟ
สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหว
 1. กระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ เช่น การเคลื่อนที่ของเปลือกโลก
 2. ภูเขาไฟระเบิด (ในขณะที่แมกมาใต้ผิวโลกเคลื่อนที่ตามเส้นทางสู่ปล่องภูเขาไฟ สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวก่อนมีการระเบิดของภูเขาไฟ)
 3. การกระทำของมนุษย์ เช่น การทดลองระเบิดปรมาณู การระเบิดพื่นที่เพื่อสำรวจวางแผนก่อนสร้างเขื่อน เป็นต้น
คลื่นในแผ่นดินไหว 
คลื่นแผ่นดินไหวถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. คลื่นในตัวกลาง เป็นคลื่นที่มีลักษณะแผ่กระจายเป็นวงรอบๆจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว          แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ
        1.1 คลื่นปฐมภูมิ (คลื่น P) คลื่นตามยาว อนุภาคของคลื่นชนิดนี้เคลื่อนที่ในแนวทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่น สามารถผ่านได้ในตัวกลางทุกสถานะ
        1.2 คลื่นทุติยภูมิ (คลื่น S) คลื่นตามขวาง อนุภาคของคลื่นมีทิศตั้งฉากกับทิศคลื่นเคลื่อนที่ ผ่านได้ในตัวกลางสถานะของแข็ง
2. คลื่นพื้นผิว เป็นคลื่นที่แผ่จากจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว มี 2 ชนิด
        2.1 คลื่น L (Wave of Love : Love wave) เป็นคลื่นที่อนุภาคสั่นในแนวราบ มีทิศทางตังฉากกับการเคลื่อนที่ของคลื่น
        2.2 คลื่น R (Wave of Rayleigh : Rayleigh wave) อนุภาคในคลื่นนี้สั่นเป็นรูปรี ในทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่น  เป็นสาเหตุทำให้พื้นโลกสั่นขึ้นลง
การวัดระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว 
ได้แก่ มาตราริคเตอร์ และ มาตราเมอร์แคลลี่
มาตราริคเตอร์ 
ขนาดและความสัมพันธ์ของขนาดโดยประมาณกับความสั่นสะเทือนใกล้ศูนย์กลาง
• 1-2.9      เล็กน้อย ผู้คนเริ่มรู้สึกถึงการมาของคลื่น มีอาการวิงเวียนเพียงเล็กน้อยในบางคน
• 3-3.9      เล็กน้อย ผู้คนที่อยู่ในอาคารรู้สึกเหมือนมีอะไรมาเขย่าอาคารให้สั่นสะเทือน
• 4-4.9      ปานกลาง ผู้ที่อาศัยอยู่ทั้งภายในอาคาร และนอกอาคาร รู้สึกถึงการ สั่นสะเทือน วัตถุห้อยแขวนแกว่งไกว
• 5-5.9      รุนแรงเป็นบริเวณกว้าง เครื่องเรือน และวัตถุมีการเคลื่อนที่
• 6-6.9      รุนแรงมาก อาคารเริ่มเสียหาย พังทลาย
• 7.0 ขึ้นไป เกิดการสั่นสะเทือนอย่างมากมาย ส่งผลทำให้อาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เสียหายอย่างรุนแรง แผ่นดินแยก วัตถุบนพื้นถูกเหวี่ยงกระเด็น
มาตราเมอร์แคลลี่
ระดับ I      อ่อนมาก ผู้คนไม่รู้สึก ต้องทำการตรวจวัดด้วยเครื่องมือเฉพาะทางเท่านั้น
ระดับ II     คนที่อยู่ในตึกสูง ๆ หรืออยู่นิ่งๆ เริ่มรู้สึกเพียงเล็กน้อย
ระดับ III    คนในบ้านเริ่มรู้สึกเหมือนรถบรรทุกเล็กแล่นผ่าน แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึก
ระดับ IV    ผู้อยู่ในบ้านรู้สึกเหมือนรถบรรทุกหนัแล่นผ่าน
ระดับ V     คนส่วนใหญ่รู้สึก ของเบาในบ้านเริ่มแกว่งไกว
ระดับ VI    คนส่วนใหญ่รู้สึก ของหนักในบ้านเริ่มแกว่งไหว
ระดับ VII   คนตกใจวิ่งออกจากอาคาร สิ่งก่อสร้างเริ่มมีรอยร้าว 
ระดับ VIII  อาคารธรรมดาเสียหายอย่างมาก อาคารออกแบบพิเศษเสียหายเล็กน้อย
ระดับ IX    อาคารออกแบบพิเศษเสียหายอย่างชัดเจน
ระดับ X     อาคารพังเสียหายมาก รางรถไฟงอเสียหาย
ระดับ XI    อาคารสิ่งก่อสร้างพังทลายเกือบทั้งหมด แผ่นดินถล่ม
ระดับ XII   ทุกสิ่งโดนทำลายหมด มองเห็นเป็นคลื่นบนแผ่นดิน
แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว 

หรือบริเวณตำแหน่งศูนย์กลางจะอยู่บริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลก
        - ร้อยละ 80 ของแผ่นดินไหวทั่วโลก เกิดขึ้นรอบๆมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวมีจุดที่เกิดแผ่นดินไหวและการระเบิดของภูเขาไฟบ่อยครั้งมาก โดยเฉพาะบริเวณขอบมหาสมุทรแปซิฟิกที่เรียก ว่า วงแหวนไฟ (Ring of Fire) ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ้ด้านตะวันตกของประเทศเม็กซิโก และด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา
        - ส่วนแนวรอยต่อภูเขาแอลป์ในทวีปยุโรปและภูเขาหิมาลัยในทวีปเอเชียเป็นแหล่งที่เกิดแผ่นดินไหวประมาณร้อยละ 15 ได้แก่ บริเวณประเทศพม่า อัฟกานิสถาน อิหร่าน ตุรกี และแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในยุโรป แผ่นดินไหวในบริเวณนี้มีศูนย์เกิดแผ่นดินไหวระดับตื้นและลึกปานกลาง
        - แนวรอยต่อที่เหลืออีกร้อยละ 5 เกิดในบริเวณแนวสันกลางมหาสมุทรต่างๆของโลก ได้แก่ บริเวณเทือกเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก แนวสันเขาใต้มหาสมุทรอินเดีย อละอาร์กติก ศูนย์เกิดแผ่นดินไหวบริเวณนี้อยู่ที่ระดับตื้นและเกิดเป็นแนวแคบๆ
 วิธีปฏิบัติตัวขณะเกิดแผ่นดินไหว
• ตั้งสติ อยู่ในที่ที่แข็งแรงปลอดภัย ห่างจากประตู หน้าต่าง สายไฟฟ้า เป็นต้น
• ปฏิบัติตามคำแนะนำ ข้อควรปฏิบัติของทางราชการอย่างเคร่งครัด ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป
• ไม่ควรทำให้เกิดประกายไฟ เพราะหากมีการรั่วซึมของแก๊สหรือวัตถุไวไฟ อาจเกิดภัยพิบัติจากไฟไหม้ ไฟลวก ซ้ำซ้อนกับแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นอีก
• เปิดวิทยุรับฟังสถานการณ์ คำแนะนำคำเตือนต่าง ๆ จากทางราชการอย่างต่อเนื่อง
• ไม่ควรใช้ลิฟต์ เพราะหากไฟฟ้าดังอาจมีอันตรายจากการติดอยู่ภายใต้ลิฟต์
• มุดเข้าไปนอนใต้เตียงหรือตั่ง อย่าอยู่ใต้คานหรือที่ที่มีน้ำหนักมาก
• อยู่ใต้โต๊ะที่แข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งปรักหักพังร่วงหล่นลงมา
• อยู่ห่างจากสิ่งที่ไม่มั่นคงแข็งแรง
• ให้รีบออกจากอาคารเมื่อมีการสั่งการจากผู้ที่ควบคุมแผนป้องกันภัย หรือผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้
• หากอยู่ในรถ ให้หยุดรถจนกว่าแผ่นดินจะหยุดไหวหรือสั่นสะเทือนหลังเกิดแผ่นดินไหว
• ตรวจเช็คการบาดเจ็บ และการทำการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อให้แพทย์ได้ทำการรักษาต่อไป
• ตรวจเช็คระบบน้ำ ไฟฟ้า หากมีการรั่วซึมหรือชำรุดเสียหาย ให้ปิดวาล์ว เพื่อป้องกันน้ำท่วมเอ่อ ยกสะพานไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าดูด หรือไฟฟ้าช็อต
• ตรวจเช็คระบบแก๊ส โดยวิธีการดมกลิ่นเท่านั้น หากพบว่ามีการรั่วซึมของแก๊ส (มีกลิ่น) ให้เปิดประตูหน้าต่าง แล้วออกจากอาคาร แจ้งเจ้าหน้าที่ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนผู้ที่รับผิดชอบได้ทราบในโอกาสต่อไป
• เปิดฟังข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำ จากทางราชการโดยตลอด
• ไม่ใช้โทรศัพท์โดยไม่จำเป็น
• อย่ากดน้ำล้างส้วม จนกว่าจะมีการตรวจเช็คระบบท่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะอาจเกิดการแตกหักของท่อในส้วม ทำให้น้ำท่วมเอ่อหรือส่งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์
• ออกจากอาคารที่ชำรุดโดยด่วน เพราะอาจเกิดการพังทลายลงมา
• สวมรองเท้ายางเพื่อป้องกันสิ่งปรักหักพัง เศษแก้ว เศษกระเบื้อง
• รวมพล ณ ที่หมายที่ได้ตกลงนัดหมายกันไว้ และตรวจนับจำนวนสมาชิกว่าอยู่ครบหรือไม่
• ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปปฏิบัติงานในบริเวณที่ได้รับความเสียหาย และผู้ไม่มีหน้าที่หรือไม่เกี่ยวข้อง ไม่ควรเข้าไปในบริเวณนั้น ๆ หากไม่ได้รับการอนุญาต
• ออกจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นใต้น้ำซัดฝั่งได้ แม้ว่าการสั่นสะเทือนของแผ่นดินจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม






ตํานานผาแดงนางไอ่

ตามตำนานเล่าขานสืบต่อกันมา มูลเหตุที่ทำให้เกิด "หนองหาน" มีเรื่องราวเกี่ยวพันกับ
วรรณคดีพื้นบ้านอิสานเรื่องผาแดง-นางไอ่ ตำนานรักอันลึกซึ้งของหนึ่งหญิงสองชาย
เมื่อฝ่ายหนึ่งพลาดรักและถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ก็กลายเป็นสงครามทำให้บ้าน
เมืองถล่มทลาย กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ และวรรณคดีอิสานเรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของบุญบั้งไฟ
วัฒนธรรมประเภณีที่ยิ่งใหญ่ขึ้นชื่อลือชาของชาวอิสานมาแต่บรรพกาล

"พญาขอม" ผู้ครองเมืองเอกชะทีตา มีธิดานางหนึ่งชื่อ "นางไอ่" หรือนางไอ่คำ เป็นหญิง
ที่มีรูปร่างหน้าตางดงาม ซึ่งจะหาสาวงามนางใดในสามภพมาเทียบมิได้ ความงดงามของเธอ
เป็นที่เลื่องลือไปทั่วแดนไกล เจ้าชายหลายหัวเมืองต่างหมายปองอยากได้มาป็นคู่ครอง

"ท้าวผาแดง" เจ้าชายเมืองผาโพง ทราบข่าวลือถึงศิริโฉมอันงดงามของนางไอ่ ก็เกิด
ความหลงใหลไฝ่ฝันในตัวนาง จึงวางแผนทอดสัมพันธไมตรีด้วยการส่งแก้วแหวนเงินทอง
และผ้าแพรพรรณเนื้อดไปฝากนางไอ่ เมื่อมหาดเล็กนำสิ่งของไปมอบให้ แถมยังได้บอก
นางไอ่ถึงความสง่างาม องอาจ ผึ่งผายของท้าวผาแดงให้ฟัง เท่านั้นเอง นางไอ่ก็เกิดความ
สนใจและมอบเครื่องบรรณาการกลับมาฝากท้าวผาแดงเป็นการตอบแทนด้วย

ก่อนที่มหาดเล็กจะเดินทางกลับนางไอ่ได้ฝากคำเชื้อเชิญท้าวผาแดงซึ่งตั้งทัพรออยู่นอกเมือง
ให้เข้าพบนางที่วังพญาขอม และคงเป็นด้วยบุพเพสันนิวาส ทำให้รักแรกพบของคนคู่นี้
เป็นรักที่จริงใจและจริงจัง จนคนทั้งสองได้เสียกันไปอย่างสุดจะยั้งใจได้

ฝ่าย "ท้าวพังคี" ลูกชายพญาศรีสุทโธ พญานาคผู้ครองเมืองบาดาล ก็เป็นอีกตนหนึ่งที่มี
ความไฝ่ฝันอยากยลศิริโฉมของนางไอ่ ทั้งนี้ก็เพราะเป็นเวรกรรมในอดีตชาตินั้นบันดาล
ให้เป็นไป

ฝ่ายพญาขอมเห็นว่านางไอ่ก็โตเต็มสาวแล้ว จึงมาสาส์นแจ้งไปยังหัวเมืองน้อยใหญ่ให้ทำ
บั้งไฟมาจุดแข่งขันกันที่เมืองเอกชะทีตา เพื่อจุดถวายพระยาแถนผู้เป็นใหญ่ในชั้นฟ้าบันดาล
ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลประการหนึ่ง ส่วนอีกประการหนึ่ง หากบั้งไฟเมืองใหนขึ้นสูงกว่า
ก็จะได้นางไอ่ธิดาสาวผู้เลอโฉมไปเป็นคู่ครอง

พญาขอมได้กำหนดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน6 เป็นวันงาน ทำให้เจ้าชายเมืองต่างๆทำบั้งไฟ
หมื่นบั้งไฟแสนมาจุดแข่งขันกันอย่างมากมาย บุญบั้งไฟครั้งนั้นนับเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่
มโหฬาร พอถึงวันงานผู้คนก็หลั่งใหลมาทั่วทุกสารทิศ ทั้งยังมีการแข่งขันตีกลอง ซึ่งคนอิสาน
เรียกว่า "เส็งกอง" กันอย่างครึกครื้น หนุ่มสาวต่าง "จ่ายผญา" เกี้ยวพาราสีกันอย่างสนุกสนาน

บุญบั้งไฟในครั้งนี้ แม้ท้าวผาแดงจะไม่ได้รับสาส์นเชิญให้นำบั้งไฟไปร่วมงานด้วยก็ตาม
แต่พญาขอมว่าที่พ่อตา ก็ให้การต้อนรับท้าวผาแดงเป็นอย่างดี

ฝ่ายท้าวพังคี เจ้าชายเมืองบาดาล ก็อยากมาร่วมงานกับมนุษย์ เพราะต้องการยลโฉมนางไอ่
เป็นกำลัง และคิดวางแผนในใจว่า บุญบั้งไฟครั้งนี้ต้องไปให้ได้ แม้พ่อจะทัดทานอย่างไรก็ตาม
จากนั้นก็พาไพร่พลส่วนหนึ่งออกเดินทางขึ้นมาเมืองมนุษย์

ก่อนโผล่ขึ้นเมืองเอกชะทีตาของพญาขอมผู้เป็นใหญ่ ท้าวพังคีก็พาบริวารแปลงร่างเป็นมนุษย์บ้าง
สัตว์บ้าง ส่วนท้าวพังคีก็ได้แปลงร่างเป็นกระรอกเผือก ซึ่งชาวอิสานเรียกว่า "กระรอกด่อน"
ได้ออกติดตามลอบชมนางโฉมนางไอ่ในขบวนแห่ของพญาขอม เจ้าเมือง ไปอย่างหลงใหล
ในความงามของนางไอ่

การจุดบั้งไฟแข่งขันเป็นไปอย่างสนุกสนาน ทุกคนใจจดใจจ่ออยากรู้ว่าบั้งไฟเจ้าชายเมืองใหน
จะชนะและได้นางไอ่ไปครอง ซึ่งการจุดบั้งไฟครั้งนั้น ท้าวผาแดงและพญาขอมมีเดิมพันกันว่า
ถ้าบั้งไฟท้าวผาแดงชนะบั้งไฟพญาขอมแล้ว ก็จะยกนางไอ่ธิดาสาวให้ไปเป็นคู่ครอง

ผลปรากฏว่า บั้งไฟของพญาขอมไม่ยอมขึ้นจากห้าง ส่วนของท้าวผาแดงแตก(ระเบิด)คาห้าง
คงมีแต่บั้งไฟของพญาฟ้าแดด เมืองฟ้าแดดสูงยาง และของพญาเซียงเหียนเท่านั้นที่
ขึ้นสู่ท้องฟ้านานถึง 3วัน3คืน จึงตกลงมา แต่พญาทั้งสองนั้นเป็นอาของนางไอ่ เป็นอันว่าเธอ
เธอจึงไม่ตกเป็นคู่ครองของใคร

เมื่อบุญบั้งไฟเสร็จสิ้นลงท้าวผาแดงและท้าวพังคี ต่างฝ่ายต่างกลับบ้านเมืองของตน ในที่สุด
ท้าวพังคีก็ทนอยู่บ้านเมืองแห่งตนไม่ได้ เพราะหลงใหลในศิริโฉมอันงดงามของนางไอ่
จึงพาบริวารย้อนขึ้นมายังเมืองเอกชะทีตาอีก โดยแปรงร่างเป็นกระรอกเผือกอย่างเดิม
ส่วนที่คอแขวนกระดิ่งทอง ไปเกาะอยู่บนกิ่งไม้ใกล้หน้าต่างห้องนอนของนาง

เมื่อเสียงกระดิ่งทองดังกังวาลขึ้น นางไอ่ได้ยินก็เกิดความสงสัย จึงเปิดกหน้าต่างออกไปดู
เห็กระรอดเผือกน่ารักน่าเอ็นดู นางก็เกิดความพอใจอยากได้ จึงสั่งให้นายพรานฝีมือดี
ออกติดตามจับกระรอกเผือกใด้ แต่จนแล้วจนรอดนายพรานก็จับไม่ได้ นางไอ่เกิดความไม่พอใจ
ขึ้นมาแทนที่ และสั่งให้นายพรานจับมาให้ได้ไม่ว่าจะจับเป็นหรือจับตาย 

นายพรานออกติดตามกระรอกเผือก เริ่มตั้งแต่บ้านพันดอน บ้านน้ำฆ้อง ก็ไม่มีโอกาสจับ
กระรอกเผือกเสียที จึงไล่ติดตามมาจนถึงบ้านนาแบก บ้านเหล่าหมากบ้า บ้านเหล่าแชแลหนองแวง
บ้านเหล่าใหญ่ บ้านเมืองพริก บ้านคอนสาย บ้านม่วง ก็ยังจับไม่ได้

ในที่สุด ผลกรรมแต่ชาติปางก่อนตามมาทัน เมื่อกระรอกเผือกตัวน้อยหนีนายพรานมาถึง
ต้นมะเดื่อที่มีผลสุกเต็มต้น เจ้ากระรอกน้อยก็ก้มหน้าก้มตากัดกินลูกมะเดื่อด้วยความหิวโหย
นายพรานไล่ตามมาทันก็เกิดความโมโหที่จับเป็นไม่ได้ จึงตัดสินใจจับตาย ด้วยการใช้หน้าไม้
อาบยาพิษ ยิงถูกร่างเจ้ากระรอกเผือกเต็มรัก กระรอกเผือกหรือท้าวพังคี รู้ดีว่าต้องตายแน่ๆ
จึงสั่งให้บริวารกลับเมืองบาดาลเพื่อนำเอาความไปเล่าให้บิดาทราบ และก่อนสิ้นใจ
ท้าวพังคีก็แสดงอิทธิฤทธิ์ โดยร่ายมนต์อธิษฐานว่า "ขอให้เนื้อของตนมีมากมาย 8000
เล่มเกวียน มากพอเลี้ยงผู้คนได้ทั้งเมืองอย่างทั่วถึง"


เมื่อกระรอกเผือกสิ้นใจตาย นายพรานกับพวกนักล่าฝีมือฉกาจ ก็นำเอาร่างของกระรอกเผือก
ไปชำแหละอาเนื้อที่บ้านเชียงแหว เมื่อนายพรานปาดเอาเนื้อให้ผู้คนทั้งบ้านใกล้บ้านไกล
ได้กินกัน ก็ปรากฎว่าเนื้อของกระรอกน้อยก็เพิ่มขึ้นมาอย่างทวีคูณ ผู้คนในเมืองต่างพากัน
กินเอกระรอกอย่างอิ่มหมีพีมัน ยกเว้นผู้คนที่บ้านดอนแม่หม้ายไม่มีผัว หรือ "บ้านดอนแก้ว"
ซึ่งอยู่กลางทุ่งหนองหานเท่านั้น ที่พวกพรานไม่ได้แบ่งปันให้กิน

ฝ่ายบริวารท้าวพังคีเมื่อกลับถึงเมืองบาดาล ก็เล่าเหตุการณ์ท้าวพังคีถูกนายพรานฆ่าตาย
ให้พญานาคราชผู้เป็นบิดาฟังบิดาท้าวพังคีก็เกิดความกริ้วโกรธา สั่งจัดบริวารเป็นริ้วขบวน
นาคา ขึ้นไปอาละวาดเมืองพญาขอมให้ถล่มทลายหายแค้น พร้อมประกาศก้องว่า "ใคร
กินเนื้อลูกภังคีของข้า พวกมึงอย่าไว้ชีวิต"


พญานาคพาบริวารออกอาละวาดไปทั่วแดนเมืองเอกชะทีตา เสียงดังครืนๆ ฆ่าผู้คนตายไป
อย่างมากมายสุดคณานับ แผ่นดินเมืองพญาขอมก็ล่มทลายลงเป็นหนองหาน ส่วนบ้านดอนแก้ว
หรือดอนแม่หม้าย แห่งเดียวที่ผู้คนไม่ได้กินเนื้อท้าวพังคี จึงไม่ได้ล่มทลายลงดังที่เห็นในปัจจุบัน

ขณะที่บ้านเมืองกำลังล่มทลายเพราะอิทธิฤทธิ์ของพญานาคศรีสุทโธอยู่นั้น ท้าวผาแดง
ก็ขี่ม้าบักสามมุ่งหน้าไปหานางไอ่ ท้าวผาแดงเห็นนาคเต็มไปหมด และได้เล่าเรื่องที่พบเห็น
ให้นางฟัง แต่นางกลับไม่สนใจ แต่ได้ทำอาหารที่มีกลิ่นหอมหวนเป็นพิเศษมาให้ท้าวผาแดงรับประทาน

ท้าวผาแดงจึงถามว่า เนื้ออะไร ทำไมจึงหอมนัก ก็ได้รับคำตอบจากนางว่า "เนื้อกระรอก
นายพรานยิงตายนำมาให้"


เท่านั้นเอง ท้าวผาแดงก็ทราบในทันทีว่าเป็นเนื้อของท้าวภังคี ลูกชายเจ้าพ่อศรีสุทโธนาค
เจ้าเมืองบาดาล จึงไม่ยอมกินอาหาร "ต้องห้าม" ที่นางยกมาให้ พอตกตอนกลางคืน
ผู้คนกำลังหลับสนิท เหตุการณ์ร้ายก็เกิดขึ้น เสียงครืนๆแผ่นดินถล่มมาแต่ไกล ท้าวผาแดง
ก็รู้ทันทีว่าเป็นการกระทำของพญานาค จึงคว้าร่างนางไอ่ขึ้นหลังม้าบักสามควบหนีออกจากเมือง
อย่างสุดฝีเท้าเพื่อให้พ้นภัย

แต่นางไอ่ได้กินเนื้อกระรอกกับชาวเมืองด้วย แม้ว่าท้าวผาแดงจะควบม้าคู่ชีพไปทางใหน
นาคก็ดำดินติดตามไป แผ่นดินก็ถล่มทลายตามไปด้วย ท้าวผาแดงควบม้าไปทางภูพานน้อย
ต้นลำห้วยสามพาด เพื่อหนีไปยังเมืองผาโพง พญานาคก็ติดตามอย่างไม่ลดละ และแปลงร่าง
เป็นขอนไม้ยางขนาดยักษ์ขวางเส้นทางไว้ ม้าบักสามก็กระโดดข้ามอย่างสุดฤทธิ์ สองขาหน้า
ข้ามขอนไม้ไปได้แต่สองขาหลังคู้ขึ้นมาไม่ข้าม จึงทำให้ม้าเสียหลักล้มพังพาบลง อวัยวะ
เพศของม้าไปกระแทกกับภูพานน้อยเป็นร่องลึกลงไป และกลายเป็นต้นลำห้วยสามพาด
มาตั้งแต่บัดนั้น

ในที่สุดนางไอ่ก็ถูกพญานาคใช้หางฟาดตกลงจากหลังม้า และพญานาคก็คว้าตัวนางไป
ต่อหน้าท้าวผาแดง สุดแรงที่จะตามเมียรักกลับคืนมา

เมื่อท้าวผาแดงกลับไปถึงเมืองผาโพง ก็คิดถึงนางไอ่เมียรัก ตรอมใจ ข้าวปลาไม่กิน ร่างกายผ่ายผอม
สุดท้ายท้าวผาแดงจึงทำพิธีฆ่าตัวตาย เพื่อต้องการไปเป็นหัวหน้าผี นำทัพไปรบกับพญานาค
ช่วงชิงนางไอ่กลับคืนมาให้จงได้

เมื่อท้าวผาแดงตายเป็นผี ก็ได้ไปเป็นหัวหน้าผีสมดังประสงค์ พอได้โอกาสเหมาะ ผีผาแดง
ก็เตรียมไพร่พลเดินทัพผีไปรบกับพญานาค บริวารท้าวผาแดงมีเป็นแสนๆ เดินเท้าเสียงดัง
อึกทึกปานแผ่นดินจะถล่ม เข้ารายล้อมเมืองพญานาคเอาไว้ทุกด้าน ต่างฝ่ายต่างใช้อิทธิฤทธิ์
รบกันนานถึง 7วัน7คืน ไม่มีใครแพ้ชนะ

ฝ่ายเจ้าพ่อศรีสุทโธ เจ้าเมืองบาดาลซึ่งแก่ชราภาพมากแล้ว ก็ไม่อยากก่อกรรมกก่อเวร
เพราะต้องการไปเกิดในแผ่นดินพระศรีอาริยเมตไตรย์อีก จึงไปหาท้าวเวสสุวัณ ผู้เป็นใหญ่
ให้มาตัดสินความ ท้าวเวสสุวัณจึงเรียกทั้งสองฝ่ายมา โดยให้ทั้งสองฝ่ายเล่าเรื่องที่เกิดขึนให้ทราบ
ฟังเรื่องทั้งหมดจบแล้ว ท้าวเวสสุวัณจึงบอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นผลของ "บุพกรรม"
หรือกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนที่ตามาในชาตินี้ และทั้งสองฝ่ายก็มีเหตุผลก้ำกึ่งกัน จึงให้
ทั้งสองเลิกรา ไม่ต้องเข่นฆ่ากันอีก ขอให้มีเมตตาต่อกัน และให้ทั้งสองฝ่ายรักษาศีลห้า
ปฏิบัติธรรมและมีขันติธรรมต่อไป ส่วนนางไอ่ ระหว่างนี้ก็ให้อยู่เมืองพญานาคไปก่อน รอให้
พระศรีอาริยเมตไตรย์จุติมาตัดสินว่าจะตกเป็นของใคร

ท้าวผาแดงและพญานาคได้ฟังคำสั่งสอนของท้าวเวสสุวัณก็กลับมีสติ เข้าใจในเหตุและผล
ต่างฝ่ายต่างอนุโมทนาสาธุการ เหตุร้ายจึงยุติลงด้วยความเข้าใจ มีการให้อภัยกันในที่สุด
นิยายรักเศร้าสุดประทับใจเรื่องผาแดง-นางไอ่ จึงจบลงแต่เพียงเท่านี้

--เอวัง-


-นิยายรักอมตะ "ผาแดง-นางไอ่"
ไม่เพียงเป็นนิยายรักพื้นบ้าน
ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีตลอดทั่วทั้งภาคอิสานเท่านั้น
นิยายเรื่องนี้ยังได้รับการนำมาเป็นส่วนหนึ่ง
ของประวัติเมืองสกลนครด้วย

-หนองหาน ไม่ใช่จะมีอยู่แต่เพียงในจังหวัดสกลนคร
แต่ยังมีอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีด้วย
และหากจะกล่าวถึงแหล่งน้ำกว้างใหญ่
ที่พญานาคได้ทำลายเมืองเอกชะทีตาลง
จนกลายเป็นหนองน้ำใหญ่นั้น
แหล่งน้ำขนาดใหญ่ในหลายจังหวัดของภาคอิสาน
อย่าง บึงพลาญชัย ก็มีประวัติที่อิงอยู่กับเรื่องพญานาค
ทำลายเมืองเอกชะทีตานี้อยู่ด้วยเช่นกัน

-เรื่อง "ผาแดง-นางไอ่" นอกจากจะเป็นนิยายรักอมตะของอิสานแล้ว
ยังเป็นวรรณกรรมโบราณหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่กล่าวถึง
พิธีจุดบั้งไฟขอฝนของชาวอิสานไว้อย่างชัดเจน เป็นหลักฐานถึง
ประเภณีและความเชื่อเกี่ยวกับการจุดบั้งไฟขอฝนของชาวอิสาน
ที่แน่ชัดว่ามีมาแล้วหลายร้อยปี 
จนในปัจจุบัน ในงานประเภณีบุญบั้งไฟโดยทั่วไปของชาวอิสาน
สัญลักษณ์เรื่อง "ผาแดง-นางไอ่" คือ ท้าวผาแดงและนางไอ่คำ
บนหลังม้าบักสาม ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของขบวนแห่บั้งไฟ
ทุกๆขบวนไปแล้ว